admin advanced law

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()
รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> กฎหมายว่าด้วย “เงินทดแทน” ที่ “ลูกจ้าง” ควรจะรู้
โดย admin advanced law - จันทร์, 17 ธันวาคม 2018, 12:37PM
 
กฎหมายว่าด้วย “เงินทดแทน” ที่ “ลูกจ้าง” ควรจะรู้
-
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง ในกรณีที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงาน การป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง เป็นต้น
เงินทดแทน ตามกฎหมาย คือ เงินที่จ่ายเป็นค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน หรือค่าทำศพ

ใครมีสิทธิได้รับเงินทดแทน

บุคคลที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ได้แก่
1) ลูกจ้าง หรือ
2) ทายาทเงินทดแทน (บุคคลตามมาตรา 20) ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ซึ่งได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดามารดา
(2) สามีหรือภรรยา
(3) บุตรมีอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 18 ปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่
(4) บุตรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
(5) กรณีไม่มีบุคคลตาม (1)-(4) ให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างนั้น
ผู้มีสิทธิตาม (1)-(4) ให้ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน (มาตรา 21)

คำถาม บุตรซึ่งมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจำเป็นต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คำตอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นบุตรที่แท้จริงแม้ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายก็มีสิทธิได้รับเงินทดแทน

กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน (มาตรา 49)

กฎหมายกำหนดว่าเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย ให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาตามแบบที่เลขาธิการกำหนดภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แล้วแต่กรณี

คำถาม หากยื่นคำร้องเกินกำหนด 180 วัน จะหมดสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่
คำตอบ มาตรา 49 กำหนดระยะเวลาให้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แล้วแต่กรณี กำหนดเวลา 180 วันดังกล่าว เป็นเพียงกำหนดเวลาเร่งรัดให้ยื่นคำร้องขอโดยเร็วเท่านั้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดผลของการฝ่าฝืนไว้ว่าหากยื่นเกินกำหนดจะเป็นอันหมดสิทธิ ดังนั้นแม้ยื่นกำหนดก็ไม่ตัดสิทธิในการได้รับเงินทดแทน (ฎ.1308/2557)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2557

บุตรตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) ต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง เมื่อโจทก์เป็นบุตรตามความเป็นจริงของผู้ตายซึ่งเป็นลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 49 บัญญัติให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แต่ไม่ได้บัญญัติว่าหากไม่ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนระงับสิ้นไป ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ใช้สิทธิโดยเร็ว ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแม้โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้ตายประสบอันตราย โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทน กรณีมีเหตุเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์
โดย admin advanced law - จันทร์, 17 ธันวาคม 2018, 12:35PM
 
ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557[1]


พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และต้องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์


สัตว์ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย คือ

"สัตว์" ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หมายความถึง สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดงหรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

“การจัดสวัสดิภาพสัตว์” หมายความว่า การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ


การทารุณกรรม คือ

"การทารุณกรรม" หมายถึง การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ


กฎหมายคุ้มครองสัตว์ อย่างไร

1.กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร[2] ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[3]

2.กฎหมายห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร[4] ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท[5]

3. เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

4.การขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม[6] หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท[7]

(*การจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ความเหมาะสมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยการประกาศกำหนดจะต้องคำนึงถึงประเภท ชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์)


การกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์

กฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นเกี่ยวกับการกระทำบางอย่างซึ่งไม่ให้ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งได้แก่การกระทำดังต่อไปนี้

(1) การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร

(2) การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์

(3) การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์

(4) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บและไม่สามารถเยียวยา

หรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน

(5) การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา

(6) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์

หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน

(7) การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทำได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับ

ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์

(8) การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์

หรือการดำรงชีวิตของสัตว์

(9) การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น

(10) การกระทำอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ

(11) การกระทำอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

-
[1] ศิวาพร คารวนันท์, น.บ., น.ม., น.บ.ท.
[2] มาตรา 20
[3] มาตรา 31
[4] มาตรา 22
[5] มาตรา 32
[6] มาตรา 24
[7] มาตรา 32

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> มาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนในวันสุดท้ายและหมดเวลาราชการแล้ว จะไถ่ทรัพย์คืนได้หรือไม่?
โดย admin advanced law - จันทร์, 17 ธันวาคม 2018, 12:34PM
 

หากนำเงินมาไถ่ทรัพย์คืนในวันสุดท้ายตอนเวลา 18.00 น.ผู้รับไถ่อ้างว่ามาไถ่คืน
เมื่อพ้นกำหนดเพราะหมดเวลาราชการแล้ว ไม่รับไถ่ ข้ออ้างเช่นนี้ฟังขึ้นหรือไม่
-
ตอบ ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น
(คำตอบอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556)
-
ฎีกาที่ 19332/2556 โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554
อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดินซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระ
ให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำ
ของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลา
ที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว
จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการ
แล้ว และไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การ
จดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ
ภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลย
ภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่าง
โจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ว่าด้วยเรื่องฟ้องเท็จในคดีแพ่ง
โดย admin advanced law - จันทร์, 17 ธันวาคม 2018, 12:33PM
 
ฟ้องเท็จในคดีแพ่ง เป็นความผิดหรือไม่
-
ตอบ ไม่เป็นความผิด เพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าเป็นความผิด
-
ฟ้องเท็จในคดีแพ่งจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือไม่
-
ตอบ ไม่เป็นความผิด
-
(ฎีกาที่ 1274/2513) การเอาความเท็จมาฟ้องในคดีแพ่งหรือการที่จำเลยในคดีแพ่งยื่นคำให้การเป็นเท็จไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เพราะมิได้เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน.และการที่โจทก์หรือจำเลยในคดีแพ่งแถลงให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสำนวนคดีแพ่งโดยมิได้มีวัตถุประสงค์จะใช้ข้อความนั้นเป็นพยานหลักฐานก็หาเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ไม่
-
ฟ้องเท็จในคดีแพ่งไม่เป็นความผิดอาญา แต่อาจผิดเบิกความเท็จได้ใช่หรือไม่
-
ตอบ ใช่ แม้ไม่ผิดฟ้องเท็จ แต่เมื่อเบิกความในฐานะพยานยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จนั้นก็มีความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคหนึ่ง
-
(ฎีกาที่ 8691/2550) ความเท็จที่จะถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดีต้องเป็นความเท็จที่อาจทำให้คู่ความต้องแพ้ชนะกันในประเด็นแห่งคดี คดีแพ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ร่วมหรือไม่ การที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน และลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยนั้น ย่อมเป็นการเบิกความเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทอันเป็นข้อแพ้ชนะคดีกรณีจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำเบิกความนั้นเป็นเท็จ ดังนี้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> การปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการใช้ "อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์" ติดตามตัว ((Electronic Monitoring : EM)
โดย admin advanced law - ศุกร์, 14 ธันวาคม 2018, 01:18PM
 
การปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการใช้ "อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์" ติดตามตัว ((Electronic Monitoring : EM)

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring : EM) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบ
คุมผู้กระทำผิดแทนการจำคุกในเรือนจำ ซึ่งจะประกอบด้วยตัวอุปกรณ์ส่งสัญญาณ มี
ลักษณะคล้ายนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือข้อเท้า ตัวอุปกรณ์รับสัญญาณ และศูนย์ควบคุมกลาง
ที่ใช้ติดตามตัว เมื่อสวมใส่อุปกรณ์ที่ข้อมือ ข้อเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่นก็จะสามารถตรวจสอบ
การเดินทางของผู้สวมใส่ได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับ
การปล่อยตัวชั่วคราว โดยบัญญัติเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่
สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวได้

ซึ่งสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
1.ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราว
หรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือ
ในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจ
สอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัย
อันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น (มาตรา 108 วรรคสาม)

2.ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้
อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุ
สมควรประการอื่น (มาตรา 108 วรรคสาม)

3.ในกรณีที่มีคำสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดตามมาตรา 108
วรรคสาม กับผู้ต้องหาหรือจำเลยใด ถ้าปรากฏว่าอุปกรณ์ดังกล่าวถูกทำลายหรือทำให้ใช้การ
ไม่ได้ไม่ว่าโดยวิธีใดให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นหนีหรือจะหลบหนี (มาตรา 117
วรรคสอง)

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่สามารถหาหลัก
ประกันได้เพียงพอมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้นหากยินยอมให้เจ้าพนักงานซึ่ง
มีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เช่น กำไลติดตามตัว)
หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางได้

การนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ถือเป็นข้อดีที่ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลนัก
โทษที่ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดร้ายแรง และยังทำให้เขาได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้
กลับไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งการใช้อุปกรณ์ติดตามตัวนี้ได้มีการนำร่องใช้แล้ว
กับคดีเด็กแว๊นในการคุมประพฤติ โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้นำมาทดลอง
ใช้กับกลุ่มเด็กที่กระทำความผิดใน พ.ร.บ.จราจรฯ

นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์จะขยายผลเพื่อนำไปใช้กับผู้ต้องขังในอีกหลายกลุ่ม เช่น
กลุ่มผู้ต้องขังที่จะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก เช่น เอดส์ระยะสุดท้าย, มะเร็งระยะสุดท้าย,
ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น หรือกลุ่มที่เจ็บป่วยเรื้อรังต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ต้องฟอกไต หรือ
กลุ่มที่มีเหตุอันควรได้รับการทุเลาการบังคับ เช่น วิกลจริต หรือตั้งครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตร
เป็นต้น

แนวทางการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวนี้ ถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งของกระบวนการ
ยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย และวิธีการดังกล่าวก็เป็นที่ยอมรับและมีใช้กันอยู่ในต่าง
ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศบราซิล ประเทศอิสราเอล เป็นต้น

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()