กฎหมายว่าด้วย “เงินทดแทน” ที่ “ลูกจ้าง” ควรจะรู้
-
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้าง ในกรณีที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย อันเนื่องมาจากการทำงาน การป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง เป็นต้น
เงินทดแทน ตามกฎหมาย คือ เงินที่จ่ายเป็นค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน หรือค่าทำศพ
ใครมีสิทธิได้รับเงินทดแทน
บุคคลที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ได้แก่
1) ลูกจ้าง หรือ
2) ทายาทเงินทดแทน (บุคคลตามมาตรา 20) ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย ซึ่งได้แก่บุคคลดังต่อไปนี้
(1) บิดามารดา
(2) สามีหรือภรรยา
(3) บุตรมีอายุต่ำกว่า 18 ปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 18 ปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่
(4) บุตรมีอายุตั้งแต่ 18 ปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย
(5) กรณีไม่มีบุคคลตาม (1)-(4) ให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนแก่ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างนั้น
ผู้มีสิทธิตาม (1)-(4) ให้ได้รับส่วนแบ่งในเงินทดแทนเท่ากัน (มาตรา 21)
คำถาม บุตรซึ่งมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจำเป็นต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คำตอบ ไม่จำเป็นต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นบุตรที่แท้จริงแม้ไม่ใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายก็มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
กำหนดเวลาในการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน (มาตรา 49)
กฎหมายกำหนดว่าเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย ให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตาม มาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานแห่งท้องที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่หรือที่นายจ้างมีภูมิลำเนาตามแบบที่เลขาธิการกำหนดภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แล้วแต่กรณี
คำถาม หากยื่นคำร้องเกินกำหนด 180 วัน จะหมดสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่
คำตอบ มาตรา 49 กำหนดระยะเวลาให้ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายใน 180 วันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แล้วแต่กรณี กำหนดเวลา 180 วันดังกล่าว เป็นเพียงกำหนดเวลาเร่งรัดให้ยื่นคำร้องขอโดยเร็วเท่านั้น ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดผลของการฝ่าฝืนไว้ว่าหากยื่นเกินกำหนดจะเป็นอันหมดสิทธิ ดังนั้นแม้ยื่นกำหนดก็ไม่ตัดสิทธิในการได้รับเงินทดแทน (ฎ.1308/2557)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1308/2557
บุตรตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) ต้องถือเอาความเป็นบุตรตามความเป็นจริง เมื่อโจทก์เป็นบุตรตามความเป็นจริงของผู้ตายซึ่งเป็นลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 49 บัญญัติให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แต่ไม่ได้บัญญัติว่าหากไม่ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจะมีผลทำให้สิทธิที่จะได้รับเงินทดแทนระงับสิ้นไป ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จึงเป็นเพียงกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ใช้สิทธิโดยเร็ว ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิแม้โจทก์ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ผู้ตายประสบอันตราย โจทก์ก็ยังมีสิทธิได้รับเงินทดแทน กรณีมีเหตุเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน