admin advanced law

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()
รูปภาพของadmin advanced law
ข่าวและประกาศ -> พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๒
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 11 กรกฎาคม 2019, 08:06AM
 


รายละเอียดของกฎหมายอาญา ฉบับสมบูรณ์ รวมถึงการอธิบายสรุปเรียงมาตรา
ให้ไปเข้าใช้งานได้ที่ "ห้องเรียนกฎหมายอาญา" และเลือกดาวน์โหลดข้อมูลได้
จากห้องดังกล่าว

ลิงค์ด้านล่างคือ
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ. ๒๕๖๒
อันเป็นกฎหมายอาญา ฉบับล่าสุด

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/069/T_0127.PDF


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย ไม่เสียงติดคุก !!!
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 4 เมษายน 2019, 01:08PM
 


ทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย[1]

เนื่องจากการทวงถามหนี้ในปัจจุบันมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคามโดยขู่เข็ญ การใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จ และการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น จึงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทวงถามหนี้ รวมถึงการควบคุมการทวงถามหนี้ไว้เป็นการเฉพาะโดยได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า "ผู้ทวงถามหนี้กันก่อนว่าหมายความถึงบุคคลใดกันบ้าง ซึ่งกฎหมายได้ให้คำจำกัดความ[2] ของ "ผู้ทวงถามหนี้ไว้ว่า หมายถึง เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติ หรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย

ในส่วนของ "ผู้ให้สินเชื่อ" กฎหมายให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือบุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด ส่วน "สินเชื่อ" หมายความว่า สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

ส่วนตัว "ลูกหนี้" นั้น หมายความถึงลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย (หากลูกหนี้เป็นนิติบุคคลย่อมไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้)

ข้อห้ามในการทวงถามหนี้

1.ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้[3]

โดยหลักแล้วกฎหมายห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ คือ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ดังกล่าว

ซึ่งการติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากลูกหนี้หรือบุคคลที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ ให้กระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น และต้องปฏิบัติดังนี้

(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้

(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็น และตามความเหมาะสม

(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้

(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้

บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[4]

2.ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิลูกหนี้หรือผู้อื่น ดังต่อไปนี้[5]

(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น

(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)

(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล

กรณีมีการฝ่าฝืน (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[6]

หากฝ่าฝืน (2) (3) (4) หรือ (5) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[7]

3.ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ดังต่อไปนี้[8]

(1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ

(2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย

(3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน

(4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต

หากฝ่าฝืน (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[9]

หากฝ่าฝืน (2) (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[10]

3.ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม ดังต่อไปนี้[11]

(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

หากฝ่าฝืน13 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[12]

4.ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการดังต่อไปนี้[13]

(1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

(2) ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย

ซึ่งคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[14]

ข้อปฏิบัติในการทวงถามหนี้

1.เกี่ยวกับเวลา สถานที่ ในการทวงถามหนี้

การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้[15]

(1) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้า หรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(2) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้ หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (2) ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสม และคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้

(4) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย

2.หลักฐานเกี่ยวกับการรับชำระหนี้

ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชำระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วย และเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วย และหากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม[16]

อำนาจเปรียบเทียบปรับ

ผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายย่อมเป็นความผิดและต้องรับโทษทางอาญา แต่อย่างไรก็ตามหากพฤติการณ์การกระทำไม่ได้ก่อความรุนแรงเกินสมควร กฎหมายก็ยังผ่อนปรนให้คดีอาญานี้สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน ส่งผลให้คดีอาญาระงับสิ้นไป

อย่างไรก็ตาม การกระทำบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ร้ายแรงและกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมกฎหมายจึงกำหนดไว้ว่าไม่สามารถเปรียบเทียบปรับเพื่อให้ความผิดระงับได้

ซึ่งก็ได้แก่การกระทำความผิดใน 3 กรณี ดังต่อไปนี้ คือ

1.การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น (มาตรา 11(1))

2.การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 12(1))

3.เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย (มาตรา 14)

เมื่อได้ความรู้เกี่ยวกับการทวงถามหนี้ตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว ก็หวังว่าเจ้าหนี้ทุกรายจะเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของลูกหนี้หรือบุคคลอื่น ไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย สร้างความวุ่นวายแก่สังคม หากทุกคนเคารพสิทธิและหน้าที่ต่อกัน กล่าวคือ ลูกหนี้ก็ต้องรู้หน้าที่ด้วยการชำระหนี้ให้ตรงต่อเวลาและต้องเคารพสิทธิของเจ้าหนี้ด้วย ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก็ต้องกระทำการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมไม่ล้ำเส้นจนเกิดเป็นการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นจนกลายเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายและเป็นคดีอาญา.



[1] โดย ศิวาพร คารวนันท์, นบ.,นม., นบท.

[2] มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[3] มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[4] มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[5] มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[6] มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[7] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[8] มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[9] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[10] มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[11] มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[12] มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[13] มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[14] มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[15] มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[16] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> เจ้าหนี้ส่งข้อความปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ทางเฟสบุ๊ค มีผลตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 21 มีนาคม 2019, 05:07PM
 

เจ้าหนี้ส่งข้อความปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ทางเฟสบุ๊ค

มีผลตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่

ความระงับแห่งหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 หนี้ มี 5 เหตุด้วยกัน คือ 1.การชำระหนี้ 2.ปลดหนี้ 3.หักกลบลบหนี้ 4.แปลงหนี้ใหม่ และ 5.หนี้เกลื่อนกลืนกัน

สำหรับการปลดหนี้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 กำหนดว่า "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย"

การปลดหนี้คือการที่เจ้าหนี้ยกหนี้สินให้แก่ลูกหนี้และให้หนี้เป็นอันระงับต่อกันซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของเจ้าหนี้โดยต้องแสดงเจตนาต่อลูกหนี้ซึ่งการแสดงเจตนานั้นต้องมีเจตนาปลดหนี้อย่างแท้จริงไม่ใช่เพราะหลงผิดหรือสำคัญผิด

ปัจจุบันสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทต่อการติดต่อสื่อสารของบุคคลมากขึ้นและมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ปัญหาจึงเกิดขึ้นได้ว่าหากเจ้าหนี้ได้บอกลูกหนี้ว่าปลดหนี้ให้แต่เป็นการบอกทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทางเฟสบุ๊ค ผลทางกฎหมายจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ที่มีหลักฐานเป็นหนังสืออันจะส่งผลทำให้หนี้ระงับได้หรือไม่

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 ได้วินิจฉัยไว้ว่า “จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง”

บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

มาตรา 7 “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”

มาตรา 8 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว”

มาตรา 9 “ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า

(1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ

(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี”

ดังนั้นเมื่อพิจารณาหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึงมาตรา 9 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 จึงสรุปได้ว่า การปลดหนี้ให้ทางเฟสบุ๊คมีผลตามกฎหมายแล้วและทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ลูกหนี้จึงไม่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกต่อไป

-

ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ผลของการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
โดย admin advanced law - อังคาร, 22 มกราคม 2019, 11:21AM
 
การกู้ยืมเงิน ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด(คือเกินร้อยละ 15 ต่อปี)
1.เจ้าหนี้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยเงินกู้หรือไม่ ?
2.ลูกหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้วคืนหรือไม่ ?
3.ดอกเบี้ยที่เกินกำหนดเป็นโมฆะหรือไม่ ?
4.ดอกเบี้่ยที่เกินกำหนดที่ลูกหนี้จ่ายไปแล้วจะทำอย่างไร ?

คำตอบคือ
1.เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยเงินกู้เลยทั้งหมด
2.ลูกหนี้ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี่ยที่จ่ายไปแล้วคืนมาได้
3.ดอกเบี้ยที่คิดเกินกำหนดเป็นโมฆะทั้งหมด
4.ดอกเบี้ยที่เกินกำหนดนั้นที่ลูกหนี้จ่ายไปแล้วสามารถนำเงินที่ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราไปหักชำระหนี้ต้นเงินทั้งหมดได้

ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 , 930/2561

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2131/2560 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน
หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ
ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้
โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่า
เพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้
จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็น
โมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ย
ก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์
ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 930/2561 จำเลยกู้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท จำเลยรู้แต่แรกว่า
โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนดมาโดยตลอด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.
ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลง
เรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหากฏหมาย
อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม
ป.วิ.พ.มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ย
เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ถือว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฏหมาย ตาม
ป.พ.พ.มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ อย่างไรก็ตาม
เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย
ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้วไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน

-จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปผลของการที่เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดได้ดังนี้ คือ

1.ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่เกินกำหนดตกเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนกฎหมาย

2.เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยก่อนผิดนัดทั้งหมด

3.ลูกหนี้ไม่ไม่สิทธืิได้รับดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้วคืน

4.ดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ชำระไปแล้วต้องนำมาหักเป็นการชำระต้นเงินทั้งหมด
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ความรู้กฎหมายสำหรับประชาชนเรื่องการกู้ยืมเงิน
โดย admin advanced law - จันทร์, 17 ธันวาคม 2018, 12:40PM
 
ความรู้กฎหมายสำหรับประชาชนเรื่องการกู้ยืมเงิน[1]


1.ความหมายของการกู้ยืมเงิน

การยืม เป็นสัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งมีคู่กรณีเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ยืม” และอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า “ผู้ยืม”

สัญญายืมนั้น เป็นสัญญาที่ผู้ให้ยืมส่งมอบหรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้ยืมเพื่อใช้สอยทรัพย์สินนั้นและผู้ยืมก็ตกลงว่าจะส่งคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

ประเภทของสัญญายืม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.สัญญายืมใช้คงรูป และ 2.สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ซึ่งการกู้ยืมเงินนั้นจัดอยู่ในประเภทของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง

สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ สัญญาที่ผู้ให้ยืมได้โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิดและปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืมนั้น และสัญญายืมนี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม

ดังนั้น การกู้ยืมเงินหรือสัญญากู้ยืมเงิน จึงเป็นสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง ที่ “ผู้กู้ยืม” ไปขอกู้ยืมเงินจากบุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้ให้กู้ยืม” โดยผู้กู้ยืมสัญญาหรือตกลงว่าจะใช้เงินคืนให้ภายในกำหนดเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินนี้จะมีการกำหนดดอกเบี้ยในการกู้ยืมด้วยหรือไม่ก็ได้ และสัญญากู้ยืมเงินจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้มีการส่งมอบเงินที่กู้ยืมกันแล้ว

2.หลักฐานการกู้ยืมเงิน

แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

1.กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน ไม่เกิน 2,000 บาท กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องทำหลักฐานการกู้ยืมต่อกัน ดังนั้น แม้ตกลงยืมเงินกันด้วยวาจา เมื่อเกิดการผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาก็สามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย

2.กรณีจำนวนเงินที่กู้ยืมกัน เกิน 2,000 บาทขึ้นไป กฎหมายกำหนดให้การกู้ยืมเงินจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน มิเช่นนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีต่อกันไม่ได้

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร มีข้อความชัดแจ้งว่ามีการกู้ยืมเงินกันไปเป็นจำนวนเท่าใดและตกลงจะใช้คืนเมื่อใด และที่สำคัญคือต้องมีลายมือชื่อของผู้กู้ยืมเป็นสำคัญด้วย

ดังนั้น เนื้อความในเอกสารหลักฐานการกู้ยืมเงิน ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

1.ข้อความที่แสดงโดยตรงหรือโดยปริยายว่าเงินที่ได้รับเป็นเงินกู้ยืมและมีข้อความว่าจะใช้คืนให้

2.ระบุจำนวนเงิน และ

3.ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อ (กรณีลงลายพิมพ์นิ้วมือจะต้องมีพยานรับรองลายนิ้วมือ 2 คน)

3.ดอกเบี้ยกู้ยืมเงิน

ในการกู้ยืมเงินกฎหมายให้คิดดอกเบี้ยกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน กฎหมายได้กำหนดจำกัดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินไว้คือ ให้คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี (คืออัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน) ยกเว้นกรณีเป็นสถาบันการเงินหรือธนาคาร กฎหมายให้อำนาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปีได้ แต่ต้องเป็นไปตามประกาศข้อกำหนดของธนาคารซึ่งมีกฎหมายรองรับ(พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน)

กรณีกำหนดดอกเบี้ยไว้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีผลคือ

1.เป็นความผิดอาญาฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475

2.ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมนั้นตกเป็นโมฆะทั้งหมด ฟ้องบังคับไม่ได้เลย (แต่เงินต้นยังคงสมบูรณ์)

3.ดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยืมชำระไปแล้ว เรียกคืนไม่ได้ (ถือว่าชำระหนี้ตามอำเภอใจ)

แม้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจะตกเป็นโมฆะ แต่สำหรับดอกเบี้ยผิดนัด ผู้ให้กู้ยืมก็ยังคงบังคับได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

4.อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน

การฟ้องร้องเรียกเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน มีอายุความ 10 ปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินกู้ยืมคืน แต่หากสัญญากู้ยืมตกลงกันกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ เช่น รวมทั้งหมด 5 งวด จะเป็นกรณีที่คู่สัญญาได้ตกลงชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ ซึ่งจะมีอายุความเพียง 5 ปี

5.ข้อแนะนำและข้อควรระวังเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน

1.ห้ามลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเด็ดขาด

2.ก่อนลงลายมือชื่อในสัญญากู้ ต้องตรวจสอบจำนวนเงินที่ระบุในสัญญาให้ถูกต้องและครบถ้วนตามจำนวนเงินที่ได้รับไป และในสัญญาต้องเขียนจำนวนเงินเป็นตัวหนังสือกำกับไว้ด้วยเสมอ เช่น กู้ยืมเงินไปจำนวน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน)

3.อย่านำโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับการทำประโยชน์ในที่ดิน(น.ส.3)ไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน

4.สัญญาต้องทำอย่างน้อย 2 ฉบับ โดยให้ผู้กู้ยืมถือไว้ด้วย 1 ฉบับ

5.ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ยืมลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาด้วยอย่างน้อย 1 คน

6.การชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขอรับใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานการรับเงินซึ่งมีลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมลงกำกับด้วยทุกครั้ง (เพื่อไว้เป็นหลักฐานยืนยันว่าได้ชำระหนี้แล้ว)

7.เมื่อชำระหนี้ทั้งหมดต้องขอสัญญากู้คืนจากผู้ให้กู้ยืมด้วย

****************************************************************************

[1] โดย ศิวาพร คารวนันท์ (อ.เกด)
-นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-เนติบัณฑิตไทย
-ทนายความ, ติวเตอร์, อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยเอกชน.

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()