รูปภาพของadmin advanced law
เจ้าหนี้ส่งข้อความปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ทางเฟสบุ๊ค มีผลตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 21 มีนาคม 2019, 05:07PM
 

เจ้าหนี้ส่งข้อความปลดหนี้ให้กับลูกหนี้ทางเฟสบุ๊ค

มีผลตามกฎหมายอย่างไรหรือไม่

ความระงับแห่งหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 2 หนี้ มี 5 เหตุด้วยกัน คือ 1.การชำระหนี้ 2.ปลดหนี้ 3.หักกลบลบหนี้ 4.แปลงหนี้ใหม่ และ 5.หนี้เกลื่อนกลืนกัน

สำหรับการปลดหนี้นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 กำหนดว่า "ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป

ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย"

การปลดหนี้คือการที่เจ้าหนี้ยกหนี้สินให้แก่ลูกหนี้และให้หนี้เป็นอันระงับต่อกันซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของเจ้าหนี้โดยต้องแสดงเจตนาต่อลูกหนี้ซึ่งการแสดงเจตนานั้นต้องมีเจตนาปลดหนี้อย่างแท้จริงไม่ใช่เพราะหลงผิดหรือสำคัญผิด

ปัจจุบันสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามามีบทบาทต่อการติดต่อสื่อสารของบุคคลมากขึ้นและมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย ปัญหาจึงเกิดขึ้นได้ว่าหากเจ้าหนี้ได้บอกลูกหนี้ว่าปลดหนี้ให้แต่เป็นการบอกทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทางเฟสบุ๊ค ผลทางกฎหมายจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ที่มีหลักฐานเป็นหนังสืออันจะส่งผลทำให้หนี้ระงับได้หรือไม่

มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560 ได้วินิจฉัยไว้ว่า “จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟสบุ๊คถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืน ยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้ จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟสบุ๊คจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง”

บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

มาตรา 7 “ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์”

มาตรา 8 “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว”

มาตรา 9 “ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า

(1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ

(2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี”

ดังนั้นเมื่อพิจารณาหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึงมาตรา 9 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 340 จึงสรุปได้ว่า การปลดหนี้ให้ทางเฟสบุ๊คมีผลตามกฎหมายแล้วและทำให้หนี้ระงับสิ้นไป ลูกหนี้จึงไม่ต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกต่อไป

-

ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์