รูปภาพของadmin advanced law
ทวงหนี้อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย ไม่เสียงติดคุก !!!
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 4 เมษายน 2019, 01:08PM
 


ทวงหนี้อย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย[1]

เนื่องจากการทวงถามหนี้ในปัจจุบันมีการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคามโดยขู่เข็ญ การใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จ และการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น จึงต้องมีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการทวงถามหนี้ รวมถึงการควบคุมการทวงถามหนี้ไว้เป็นการเฉพาะโดยได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า "ผู้ทวงถามหนี้กันก่อนว่าหมายความถึงบุคคลใดกันบ้าง ซึ่งกฎหมายได้ให้คำจำกัดความ[2] ของ "ผู้ทวงถามหนี้ไว้ว่า หมายถึง เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนันเป็นปกติธุระตามกฎหมายว่าด้วยการพนัน และเจ้าหนี้อื่นซึ่งมีสิทธิรับชำระหนี้อันเกิดจากการกระทำที่เป็นทางการค้าปกติ หรือเป็นปกติธุระของเจ้าหนี้ ทั้งนี้ ไม่ว่าหนี้ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึง ผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ดังกล่าว ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ด้วย

ในส่วนของ "ผู้ให้สินเชื่อ" กฎหมายให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง บุคคลซึ่งให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือบุคคลซึ่งรับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อต่อไปทุกทอด ส่วน "สินเชื่อ" หมายความว่า สินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาโดยการให้กู้ยืมเงิน การให้บริการบัตรเครดิต การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลิสซิ่ง และสินเชื่อในรูปแบบอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน

ส่วนตัว "ลูกหนี้" นั้น หมายความถึงลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาด้วย (หากลูกหนี้เป็นนิติบุคคลย่อมไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้)

ข้อห้ามในการทวงถามหนี้

1.ห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้[3]

โดยหลักแล้วกฎหมายห้ามผู้ทวงถามหนี้ติดต่อกับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อการทวงถามหนี้ แต่ก็มีข้อยกเว้นไว้ คือ เว้นแต่เป็นบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ดังกล่าว

ซึ่งการติดต่อกับบุคคลอื่นนอกจากลูกหนี้หรือบุคคลที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ ให้กระทำได้เพื่อวัตถุประสงค์ในการสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้เท่านั้น และต้องปฏิบัติดังนี้

(1) แจ้งให้ทราบชื่อตัว ชื่อสกุล และแสดงเจตนาว่าต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้

(2) ห้ามแจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลอื่นนั้นเป็นสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อให้ผู้ทวงถามหนี้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ได้เท่าที่จำเป็น และตามความเหมาะสม

(3) ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในหนังสือ หรือในสื่ออื่นใดที่ใช้ในการติดต่อสอบถาม ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อทวงถามหนี้ของลูกหนี้

(4) ห้ามติดต่อหรือแสดงตนที่ทำให้เข้าใจผิดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้

บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[4]

2.ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิลูกหนี้หรือผู้อื่น ดังต่อไปนี้[5]

(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น

(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)

(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจำนองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ความใน (5) มิให้นำมาใช้บังคับกับการทวงถามหนี้เป็นหนังสือเพื่อจะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล

กรณีมีการฝ่าฝืน (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[6]

หากฝ่าฝืน (2) (3) (4) หรือ (5) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[7]

3.ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่เป็นเท็จหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด ดังต่อไปนี้[8]

(1) การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ

(2) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าการทวงถามหนี้เป็นการกระทำโดยทนายความสำนักงานทนายความ หรือสำนักงานกฎหมาย

(3) การแสดงหรือมีข้อความที่ทำให้เชื่อว่าจะถูกดำเนินคดี หรือจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์หรือเงินเดือน

(4) การติดต่อหรือการแสดงตนให้เชื่อว่าผู้ทวงถามหนี้ดำเนินการให้แก่บริษัทข้อมูลเครดิต หรือรับจ้างบริษัทข้อมูลเครดิต

หากฝ่าฝืน (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[9]

หากฝ่าฝืน (2) (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[10]

3.ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม ดังต่อไปนี้[11]

(1) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(2) การเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

หากฝ่าฝืน13 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[12]

4.ห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการดังต่อไปนี้[13]

(1) ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

(2) ทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย

ซึ่งคำว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐหมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ

เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[14]

ข้อปฏิบัติในการทวงถามหนี้

1.เกี่ยวกับเวลา สถานที่ ในการทวงถามหนี้

การทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้ปฏิบัติดังต่อไปนี้[15]

(1) สถานที่ติดต่อ ในกรณีที่ติดต่อโดยบุคคลหรือทางไปรษณีย์ ให้ติดต่อตามสถานที่ที่ลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ได้แจ้งให้เป็นสถานที่ติดต่อ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้า หรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ หรือสถานที่ทำงานของบุคคลดังกล่าว หรือสถานที่อื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(2) เวลาในการติดต่อ การติดต่อโดยบุคคล โทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ให้ติดต่อได้ตั้งแต่เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 20.00 นาฬิกา และในวันหยุดราชการ เวลา 08.00 นาฬิกา ถึงเวลา 18.00 นาฬิกา หากไม่สามารถติดต่อตามเวลาดังกล่าวได้ หรือช่วงเวลาดังกล่าวไม่เหมาะสม ให้ติดต่อได้ในช่วงเวลาอื่นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

(3) จำนวนครั้งที่ติดต่อ ในช่วงเวลาตาม (2) ให้ติดต่อตามจำนวนครั้งที่เหมาะสม และคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดจำนวนครั้งด้วยก็ได้

(4) ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจช่วงในการทวงถามหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ให้ผู้ทวงถามหนี้แจ้งให้ทราบถึงชื่อตัวและชื่อสกุล หรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ และถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้า ให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย

2.หลักฐานเกี่ยวกับการรับชำระหนี้

ในกรณีที่ผู้ทวงถามหนี้ขอรับชำระหนี้ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ต่อลูกหนี้ หรือบุคคลซึ่งลูกหนี้ได้ระบุไว้เพื่อการทวงถามหนี้ด้วย และเมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว ให้ผู้ทวงถามหนี้ออกหลักฐานการชำระหนี้แก่ลูกหนี้ด้วย และหากลูกหนี้ได้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้โดยสุจริต ให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้โดยชอบ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ทวงถามหนี้จะได้รับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้จากเจ้าหนี้หรือไม่ก็ตาม[16]

อำนาจเปรียบเทียบปรับ

ผู้ใดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายย่อมเป็นความผิดและต้องรับโทษทางอาญา แต่อย่างไรก็ตามหากพฤติการณ์การกระทำไม่ได้ก่อความรุนแรงเกินสมควร กฎหมายก็ยังผ่อนปรนให้คดีอาญานี้สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีนั้นเป็นอันเลิกกัน ส่งผลให้คดีอาญาระงับสิ้นไป

อย่างไรก็ตาม การกระทำบางอย่างก็เป็นเรื่องที่ร้ายแรงและกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมกฎหมายจึงกำหนดไว้ว่าไม่สามารถเปรียบเทียบปรับเพื่อให้ความผิดระงับได้

ซึ่งก็ได้แก่การกระทำความผิดใน 3 กรณี ดังต่อไปนี้ คือ

1.การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทำอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น (มาตรา 11(1))

2.การแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 12(1))

3.เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ หรือทวงถามหนี้หรือสนับสนุนการทวงถามหนี้ซึ่งมิใช่ของตน เว้นแต่ในกรณีที่เป็นหนี้ของสามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตน หรือในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย (มาตรา 14)

เมื่อได้ความรู้เกี่ยวกับการทวงถามหนี้ตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว ก็หวังว่าเจ้าหนี้ทุกรายจะเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของลูกหนี้หรือบุคคลอื่น ไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย สร้างความวุ่นวายแก่สังคม หากทุกคนเคารพสิทธิและหน้าที่ต่อกัน กล่าวคือ ลูกหนี้ก็ต้องรู้หน้าที่ด้วยการชำระหนี้ให้ตรงต่อเวลาและต้องเคารพสิทธิของเจ้าหนี้ด้วย ส่วนเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก็ต้องกระทำการทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรมไม่ล้ำเส้นจนเกิดเป็นการกระทำอันละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่นจนกลายเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายและเป็นคดีอาญา.



[1] โดย ศิวาพร คารวนันท์, นบ.,นม., นบท.

[2] มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[3] มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[4] มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[5] มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[6] มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[7] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[8] มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[9] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[10] มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[11] มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[12] มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[13] มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[14] มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[15] มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558

[16] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558