การกู้ยืมเงิน ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนด(คือเกินร้อยละ 15 ต่อปี)
1.เจ้าหนี้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยเงินกู้หรือไม่ ?
2.ลูกหนี้มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้วคืนหรือไม่ ?
3.ดอกเบี้ยที่เกินกำหนดเป็นโมฆะหรือไม่ ?
4.ดอกเบี้่ยที่เกินกำหนดที่ลูกหนี้จ่ายไปแล้วจะทำอย่างไร ?
คำตอบคือ
1.เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยเงินกู้เลยทั้งหมด
2.ลูกหนี้ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี่ยที่จ่ายไปแล้วคืนมาได้
3.ดอกเบี้ยที่คิดเกินกำหนดเป็นโมฆะทั้งหมด
4.ดอกเบี้ยที่เกินกำหนดนั้นที่ลูกหนี้จ่ายไปแล้วสามารถนำเงินที่ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราไปหักชำระหนี้ต้นเงินทั้งหมดได้
ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2560 , 930/2561
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 2131/2560 โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยร้อยละ 1.3 ต่อเดือน
หรืออัตราร้อยละ 15.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ
ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะ กรณีถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้
โดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่า
เพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่ต้องชำระ อันจะเป็นเหตุให้
จำเลยไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 เมื่อดอกเบี้ยของโจทก์เป็น
โมฆะ เท่ากับสัญญากู้ยืมมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ย
ก่อนผิดนัด และไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์
ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 930/2561 จำเลยกู้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท จำเลยรู้แต่แรกว่า
โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฏหมายกำหนดมาโดยตลอด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.
ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลง
เรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหากฏหมาย
อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม
ป.วิ.พ.มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 (เดิม) การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ย
เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ถือว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฏหมาย ตาม
ป.พ.พ.มาตรา 411 จำเลยหาอาจจะเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ อย่างไรก็ตาม
เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย
ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์แล้วไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน
-จากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวข้างต้น สามารถสรุปผลของการที่เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดได้ดังนี้ คือ
1.ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่เกินกำหนดตกเป็นโมฆะ เพราะฝ่าฝืนกฎหมาย
2.เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยก่อนผิดนัดทั้งหมด
3.ลูกหนี้ไม่ไม่สิทธืิได้รับดอกเบี้ยที่จ่ายไปแล้วคืน
4.ดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ชำระไปแล้วต้องนำมาหักเป็นการชำระต้นเงินทั้งหมด
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์