admin advanced law

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()
รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> เลิกจ้างอย่างไร ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โดย admin advanced law - ศุกร์, 7 กรกฎาคม 2023, 02:49PM
 
เลิกจ้างอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย
-
การเลิกจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ
1.ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า (สำหรับสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาจ้างแน่นอน) หากสัญญาจ้างมีกำหนดเวลาแน่นอน
เมื่อสัญญาครบกำหนด สัญญาจ้างก็สิ้นสุดตามกำหนดเวลาโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
2.ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามอายุงานของลูกจ้าง (กรณีนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง) คือ
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
3.การเลิกจ้างต้องเป็นธรรม (คือมีเหตุผลอันสมควรในการเลิกจ้าง) หากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างอาจฟ้อง
เรียกค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
-
ถ้าเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ผลเป็นอย่างไร ?
- นายจ้างก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
-
มีกรณีใดบ้าง ที่นายจ้างไล่ออกได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ?
กรณีที่นายจ้างไล่ออกได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนเลย (ป.พ.พ.ม.583) คือ
1.ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย
2.ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ
3.ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี
4.กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
5.ทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
และหากเข้าเหตุดังต่อไปนี้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง คือ (พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ม.119)
1.ลูกจ้างทุจริต
2.ลูกจ้างกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง
3.ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
4.ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
5.ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่ง ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกรณีร้ายแรง
6.ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำคำเตือน
7.ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
8.ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หากเป็นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ
นายจ้างจะต้องได้รับความเสียหาย
-
อย่างไรเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ?
การเลิกจ้างที่เป็นธรรม ก็ต้องหมายความว่า เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีสาเหตุ
ที่จำเป็นและสมควร เช่น ลูกจ้างทำผิดร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างขาดทุนจนต้องปิดกิจการทั้งหมด
หรือบางส่วน นายจ้างต้องการลดภาวะขาดทุนโดยยุบแผนกที่ไม่จำเป็นบางส่วนลง เป็นต้น
-
ตัวอย่างที่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยเป็นธรรม
1.ลูกจ้างทุจริต มีมลทินมัวหมองไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตอีกต่อไป
ฎ.363/2546 , 4496/2546 ,399/2547, 841/2531, 13160/2558

2.ลูกจ้างแสดงวุฒิการศึกษาในขณะสมัครงานเป็นเท็จ
ฎ.574/2526, 2017/2527

3.ลูกจ้างไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ผลงานไม่ดี เป็นโรคติดสุรา มีปัญหาสุขภาพจนป่วย
และขาดงานมาก มีปัญหาในการทำงานจนนายจ้างไม่อาจจ้างไว้ให้ทำงานต่อไปได้
ฎ.1849/2529 , 2600/2529 , 3131/2525 , 6840/2544, 6707/2548

4.ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีร้ายแรง กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อนายจ้าง ความประพฤติ
ไม่เหมาะสมถึงขนาดไม่อาจจ้างให้ทำงานต่อไปได้
ฎ.49/2546, 4283/2530

5.นายจ้างมีความจำเป็นต้องเลิกจ้าง
ฎ.233/2524, 4038-4039/2545 , 667/2544 , 678-680/2548 , 2124/2555


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> กรณีศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาที่ 1184/2565 ให้รหัสผ่านของธนาคารแก่ลูกจ้าง...
โดย admin advanced law - อังคาร, 25 เมษายน 2023, 09:06AM
 
กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184-1187/2565
-
โจทก์ร่วมเปิดบัญชีเงินฝาก ธนาคารให้รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแก่โจทก์ร่วม ซึ่งโจทก์ร่วมใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝาก รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตในการชำระค่าสินค้าค่าบริการ ชำระหนี้อื่นแทนการชำระเงินสด ใช้โอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของบุคคลอื่น ใช้ในการเบิกถอนเงินสด หรือใช้ในธุรกรรมอย่างอื่น ถือได้ว่าเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามความหมายของมาตรา 1 (14) (ข) แห่ง ป.อ.ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้ และรหัสผ่านที่โจทก์ร่วมได้รับมา เป็นข้อตกลงระหว่างธนาคารและโจทก์ร่วมในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ โดยโจทก์ร่วมต้องเก็บรักษาเป็นความลับของตนมิให้ผู้ใดล่วงรู้ การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยที่ 2 ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยการบอกข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านแก่จำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้าง ก็เพื่อให้ทำธุรกรรมบนโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตแทนโจทก์ร่วมให้เป็นไปตามที่โจทก์ร่วมสั่งหรือมอบหมายให้ทำ หาใช่นำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้เกินกว่าที่โจทก์ร่วมสั่งหรือมอบหมายให้ทำไม่ การที่จำเลยที่ 2 ใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านของโจทก์ร่วมโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ร่วมไม่ได้สั่งหรือมอบหมายให้ทำ ย่อมเป็นการทำโดยไม่มีอำนาจและโจทก์ร่วมไม่ได้ยินยอม ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายสูญเสียเงินฝากในบัญชี จึงเป็นการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ร่วมโดยมิชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184-1187/2565

ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1184-1187/2565
กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ ในประเด็นการให้ความยินยอมในการใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านเพื่อให้จำเลยที่เป็นลูกจ้างไปทำงานตามกระบวนการดำเนินธุรกิจของโจทก์ร่วมในเวลาต่อมาเมื่อจำเลยใช้ข้อมูลบัญชีเงินฝากธนาคาร รหัสผู้ใช้และรหัสผ่านของโจทก์ร่วมโอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วมไปยังบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ร่วมไม่ได้สั่งหรือมอบหมายให้ทำ ย่อมเป็นการทำโดยไม่มีอำนาจและโจทก์ร่วมไม่ได้ยินยอม ทำให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายสูญเสียเงินฝากในบัญชี จึงเป็นความผิดฐาน 1.ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของโจทก์ร่วมโดยมิชอบ 2.ความผิดฐานลักทรัพย์ นายจ้าง 3.ความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดโดยมิชอบ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
-
สอบถามปัญหาการเรียนกฎหมายได้ที่ อาจารย์ ดร.พิชัย โชติชัยพร
อีเมล์ altlimited@yahoo.com
www.advancedlaw9.com
-


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546 ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้
โดย admin advanced law - อังคาร, 25 เมษายน 2023, 08:56AM
 
กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546
-
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
เพราะจำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับ
จำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ จำเลยจึงบันดาลโทสะฆ่าผู้ตายนั้น
เห็นว่า “ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง
คือความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัย
เมื่อคนที่ตนรักทำผิดและการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก
จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวัง
จำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลย
โดยฝ่ายเดียวมิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็น
ความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลย
ฎีกาก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม กรณี
ไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษ
ประหารชีวิต และลดโทษให้จำเลยแล้ว คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวนั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"
-
ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกา (โปรดอ่านคำพิพากษาฉบับยาว จากระบบ
สืบค้นฯ มิติที่ 1)
กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ จำเลยต่อสู้ในหลายประเด็น ประเด็นที่อ้างถึง
ข้างต้น เป็นกรณีที่จำเลยอ้างว่า ฆ่าผู้ตายเพราะเหตุบันดาลโทสะ ซึ่งถ้าศาลพิจารณาแล้ว
เห็นว่า เป็นการบันดาลโทสะอันเป็นเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลพิจารณาลดโทษให้ได้
ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหง
อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะ
ลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
แต่ในคดีนี้เมื่อศาลเห็นว่าข้อกล่าวอ้างจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตาม
ศาลล่างทั้งสองที่ลงโทษประหารชีวิต และได้ลดโทษให้จำเลย คงลงโทษจำคุก
ตลอดชีวิต.
-
สอบถามปัญหาการเรียนกฎหมายได้ที่ อ.พิชัย โชติชัยพร
อีเมล์ altlimited@yahoo.com
-


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11029/2553 ผู้มีวิชาชีพต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าบุคคลทั่วไป
โดย admin advanced law - อังคาร, 25 เมษายน 2023, 08:55AM
 
กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11029/2553 ผู้มีวิชาชีพต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าบุคคลทั่วไป
-
คำพิพากษาในคดีนี้ ธนาคารซึ่งหมายความรวมถึงพนักงานของธนาคารผู้ทําหน้าที่ตรวจรับเช็คและอนุมัติจ่ายเงินควรที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และพิจารณา ด้วยความรอบคอบ ในคดีนี้มีการเบิกเงินจำนวนมากผิดปกติ พนักงานควรที่จะสงสัยถึงขนาดที่ และควรจะสอบถามเรือนจํากลางชลบุรี ผู้สั่งจ่าย เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจึงถือได้ว่า ธนาคารมีส่วนผิด เป็นการผิดสัญญารับฝากเงินและเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
เป็นกรณีศึกษาคดีหนึ่งที่ผู้มีวิชาชีพต้องระมัดระวังในการทำงาน ในคดีทางการแพทย์หลายคดี แพทย์ผู้ทำการรักษาหากประมาทเลินเล่อในการทำงาน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น การซักประวัติผู้ป่วย การรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานแพทย์ หรือการเข้าตรวจอาการผู้ป่วยโดยตรง เป็นต้น
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 11029/2553
จําเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์โดยเพิ่มเติมจํานวนตัวเลขและตัวหนังสือในเช็คเงินสดที่เรือนจํากลางชลบุรีสั่งจ่ายในนามของจําเลยที่ 1 เพื่อให้ จําเลยที่ 1 นําไปเบิกถอนเงินมาจ่ายให้แก่เจ้าหน้าที่ แต่จําเลยที่ 1 ใช้เช็คขอเบิกเงินสดถึง 15,558,406 บาท เป็นการใช้เช็คเบิกเงินสดที่มากผิดปกติ เช่นนี้ โดยหน้าที่ตามสัญญาฝากเงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 659 วรรคสาม และตามระเบียบภายในของธนาคารจําเลยที่ 2 พนักงานผู้ทําหน้าที่ตรวจรับเช็คและอนุมัติจ่ายเงินควรที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และพิจารณา ด้วยความรอบคอบ และควรที่จะสงสัยถึงขนาดที่ควรจะสอบถามเรือนจํากลางชลบุรี ผู้สั่งจ่าย ว่าได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจํานวนมากดังกล่าวให้จําเลยที่ 1 มาเบิกเงินสดไปจริงหรือไม่ การที่ พนักงานของจําเลยที่ 2 ไม่ได้สอบถามผู้สั่งจ่าย และยอมจ่ายเงินตามที่ระบุในเช็คดังกล่าวไป ถือได้ว่าเป็นการละเว้นไม่กระทําการที่จะต้องกระทํา เป็นการผิดสัญญารับฝากเงินและเป็นละเมิดด้วย
-
ผู้หมายเหตุ
ดร.พิชัย โชติชัยพร (Notarial Services Attorney)
Tel./Line 0862310999
Advanced Legal Law Office
-
www.advancedlaw9.com
-

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2540 เขียนสัญญาไม่ครอบคลุมความรับผิดไว้ ฟ้องไม่ได้
โดย admin advanced law - อังคาร, 25 เมษายน 2023, 08:49AM
 
ข้อสังเกตจากคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้
ในการทำสัญญาต้องให้ผู้มีความรู้จัดทำสัญญาที่มีความละเอียด ชัดเจนและบังคับได้ครอบคลุมความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น กรณีตามคำพิพากษาฎีกานี้ เป็นกรณีจําเลยผิดสัญญาฯ แล้ว แต่ไม่ถือว่าเป็นการทําละเมิดต่อธนาคารตามป.พ.พ. มาตรา 420 เพราะในสัญญาไม่มีระบุว่าหากจําเลยผิดสัญญาจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจํานวนเท่าใด จึงเป็นเพียงสัญญาให้บริการแก่ธนาคารเพื่อช่วยป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของธนาคารอีกทางหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาที่จําเลยตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคารในกรณีทรัพย์สินถูกโจรกรรม ธนาคารและผู้รับช่วงสิทธิจึงไม่มีสิทธิฟ้องจําเลยเพื่อเรียกค่าเสียหายตามจํานวนเงินที่ถูกคนร้ายลักไป
-
คำพิพากษาฎีกาที่ 6114/2540
จําเลยทําสัญญากับธนาคารรับเป็นผู้ประสานงานในการส่งข้อมูลของธนาคารจากเครื่องส่งสัญญาณไปยังสถานีตํารวจด้วยเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อขอความช่วยเหลือที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ เมื่อเครื่องส่งสัญญาณของจําเลยที่ติดตั้งไว้ที่ เครื่องบริการเงินด่วนของธนาคารส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังศูนย์ของจําเลยเพราะถูก คนร้ายงัดทําลายแต่เจ้าหน้าที่ของจําเลยละเลยไม่แจ้งเหตุต่อไปยังสถานีตํารวจ เพื่อขอความ ช่วยเหลือ ถือว่าจําเลยผิดสัญญาแต่ไม่ถือว่าเป็นการทําละเมิดต่อธนาคารตามป.พ.พ. มาตรา 420 แต่สัญญาไม่มีระบุว่าหากจําเลยผิดสัญญาจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจํานวนเท่าใด จึงเป็นเพียงสัญญาให้บริการแก่ธนาคารเพื่อช่วยป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สิน ของธนาคารอีกทางหนึ่ง ไม่ใช่สัญญาที่จําเลยตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคารในกรณีทรัพย์สินถูกโจรกรรม ธนาคารไม่มีสิทธิฟ้องจําเลยเพื่อเรียกค่าเสียหายตามจํานวนเงินที่ถูกคน ร้ายลักไป โจทก์ซึ่งใช้ค่าเสียหายให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ผู้เอาประกันภัยไปแล้วย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของธนาคารมาฟ้องเรียกให้จําเลยรับผิดต่อโจทก์ตามป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคแรกได้
-
ผู้หมายเหตุ
ดร.พิชัย โชติชัยพร (Notarial Services Attorney)
Tel./Line 0862310999
Advanced Legal Law Office
-
www.advancedlaw9.com
-

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()