รูปภาพของadmin advanced law
เลิกจ้างอย่างไร ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
โดย admin advanced law - ศุกร์, 7 กรกฎาคม 2023, 02:49PM
 
เลิกจ้างอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย
-
การเลิกจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย คือ
1.ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า (สำหรับสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาจ้างแน่นอน) หากสัญญาจ้างมีกำหนดเวลาแน่นอน
เมื่อสัญญาครบกำหนด สัญญาจ้างก็สิ้นสุดตามกำหนดเวลาโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
2.ต้องจ่ายค่าชดเชย ตามอายุงานของลูกจ้าง (กรณีนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง) คือ
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
- ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ขึ้นไป ให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน
3.การเลิกจ้างต้องเป็นธรรม (คือมีเหตุผลอันสมควรในการเลิกจ้าง) หากเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างอาจฟ้อง
เรียกค่าเสียหายจากการถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้
-
ถ้าเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ผลเป็นอย่างไร ?
- นายจ้างก็ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
-
มีกรณีใดบ้าง ที่นายจ้างไล่ออกได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ?
กรณีที่นายจ้างไล่ออกได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนเลย (ป.พ.พ.ม.583) คือ
1.ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย
2.ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณ
3.ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี
4.กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
5.ทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
และหากเข้าเหตุดังต่อไปนี้ นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง คือ (พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ม.119)
1.ลูกจ้างทุจริต
2.ลูกจ้างกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง
3.ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
4.ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
5.ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่ง ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกรณีร้ายแรง
6.ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำคำเตือน
7.ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
8.ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หากเป็นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ
นายจ้างจะต้องได้รับความเสียหาย
-
อย่างไรเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ?
การเลิกจ้างที่เป็นธรรม ก็ต้องหมายความว่า เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร หรือมีสาเหตุ
ที่จำเป็นและสมควร เช่น ลูกจ้างทำผิดร้ายแรง ทุจริตต่อหน้าที่ นายจ้างขาดทุนจนต้องปิดกิจการทั้งหมด
หรือบางส่วน นายจ้างต้องการลดภาวะขาดทุนโดยยุบแผนกที่ไม่จำเป็นบางส่วนลง เป็นต้น
-
ตัวอย่างที่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างโดยเป็นธรรม
1.ลูกจ้างทุจริต มีมลทินมัวหมองไม่น่าไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตอีกต่อไป
ฎ.363/2546 , 4496/2546 ,399/2547, 841/2531, 13160/2558

2.ลูกจ้างแสดงวุฒิการศึกษาในขณะสมัครงานเป็นเท็จ
ฎ.574/2526, 2017/2527

3.ลูกจ้างไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน ผลงานไม่ดี เป็นโรคติดสุรา มีปัญหาสุขภาพจนป่วย
และขาดงานมาก มีปัญหาในการทำงานจนนายจ้างไม่อาจจ้างไว้ให้ทำงานต่อไปได้
ฎ.1849/2529 , 2600/2529 , 3131/2525 , 6840/2544, 6707/2548

4.ลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับกรณีร้ายแรง กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อนายจ้าง ความประพฤติ
ไม่เหมาะสมถึงขนาดไม่อาจจ้างให้ทำงานต่อไปได้
ฎ.49/2546, 4283/2530

5.นายจ้างมีความจำเป็นต้องเลิกจ้าง
ฎ.233/2524, 4038-4039/2545 , 667/2544 , 678-680/2548 , 2124/2555