รูปภาพของadmin advanced law
กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546 ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้
โดย admin advanced law - อังคาร, 25 เมษายน 2023, 08:56AM
 
กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6083/2546
-
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงจิตใจอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
เพราะจำเลยกับผู้ตายมีความสัมพันธ์กันฉันคนรัก แต่ผู้ตายต้องการเลิกความสัมพันธ์กับ
จำเลยไปมีรักกับผู้ชายคนใหม่ จำเลยจึงบันดาลโทสะฆ่าผู้ตายนั้น
เห็นว่า “ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง
คือความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัย
เมื่อคนที่ตนรักทำผิดและการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก
จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวัง
จำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลย
โดยฝ่ายเดียวมิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่ ทั้งเป็น
ความเห็นผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมอย่างยิ่ง ดังนี้ แม้จะฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลย
ฎีกาก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม กรณี
ไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษ
ประหารชีวิต และลดโทษให้จำเลยแล้ว คงลงโทษจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียวนั้น
ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"
-
ข้อสังเกตจากคำพิพากษาศาลฎีกา (โปรดอ่านคำพิพากษาฉบับยาว จากระบบ
สืบค้นฯ มิติที่ 1)
กรณีตามคำพิพากษาศาลฎีกานี้ จำเลยต่อสู้ในหลายประเด็น ประเด็นที่อ้างถึง
ข้างต้น เป็นกรณีที่จำเลยอ้างว่า ฆ่าผู้ตายเพราะเหตุบันดาลโทสะ ซึ่งถ้าศาลพิจารณาแล้ว
เห็นว่า เป็นการบันดาลโทสะอันเป็นเหตุที่กฎหมายให้อำนาจศาลพิจารณาลดโทษให้ได้
ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหง
อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะ
ลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"
แต่ในคดีนี้เมื่อศาลเห็นว่าข้อกล่าวอ้างจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตาม
ศาลล่างทั้งสองที่ลงโทษประหารชีวิต และได้ลดโทษให้จำเลย คงลงโทษจำคุก
ตลอดชีวิต.
-
สอบถามปัญหาการเรียนกฎหมายได้ที่ อ.พิชัย โชติชัยพร
อีเมล์ altlimited@yahoo.com
-