admin advanced law

หน้า: ()  1 ...  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19
รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย กับ ฉ้อโกง แตกต่่างกันอย่างไร
โดย admin advanced law - จันทร์, 15 เมษายน 2013, 11:48AM
 
*** การพิจารณาว่าอย่างไรเป็นลักทรัพย์หรือฉ้อโกง *** อ.เกด จะให้ข้อสังเกตไว้ดังนี้ คือ
ให้ดูว่าได้ทรัพย์ไปอย่างไร ได้ไปจากการหลอกลวง หรือ ได้ไปจากการแย่งการครอบครอง

- หากได้ทรัพย์ไปเพราะการหลอกลวง ผิดฉ้อโกง (เจ้าของส่งมอบทรัพย์ให้โดยสมัครใจเพราะเขาถูกหลอกลวง)

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3462/2537
การที่คนร้ายอ้างว่าชื่อ ส. และ พ. ไปขอเช่ารถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้
จาก บ. ซึ่ง บ. เช่าซื้อมาจากโจทก์โดยระบุโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ โดยใช้บัตรประจำตัว
ประชาชนและใบขออนุญาตขับรถยนต์ปลอมแสดงต่อ บ. บ.ตกลงให้เช่า แต่เมื่อได้รับรถ
ยนต์ไปจาก บ. แล้วคนร้ายไม่นำมาคืน แสดงให้เห็นว่าคนร้าย มีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวง
บ. ให้ส่งมอบรถยนต์แก่คนร้ายมาตั้งแต่ต้น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าคนร้าย
เป็นบุคคลที่มีชื่อและภูมิลำเนาตามเอกสารปลอม มีความประสงค์จะเช่ารถยนต์ บ. หลง
เชื่อว่าเป็นความจริง จึงยินยอมส่งมอบรถยนต์ให้แก่คนร้ายไป
ความจริงคนร้ายแสดงตน
เป็นบุคคลอื่นและไม่มีประสงค์จะเช่ารถยนต์ การกระทำของคนร้ายเป็นความผิดฐานฉ้อ
โกง ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอก

- - หากได้ทรัพย์ไปเพราะแย่งการครอบครอง ผิดลักทรัพย์ (เจ้าของไม่ได้สมัครใจส่งมอบทรัพย์ให้)

ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา วินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์(โดยใช้กลอุบาย)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2553
จำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้น การที่
จำเลยเอาสุราต่างประเทศใส่ในลังน้ำปลาแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานแคชเชียร์ของผู้
เสียหายเท่ากับราคาน้ำปลา เป็นเพียงกลอุบายของจำเลยเพื่อเอาสุราต่างประเทศของผู้
เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น โดยพนักงานแคชเชียร์ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มี
เจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย
การกระทำของจำเลยจึงเป็น
ความผิดฐานลักทรัพย์ หาใช่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่




รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> การเขียนตอบข้อสอบกฎหมาย
โดย admin advanced law - ศุกร์, 5 ตุลาคม 2012, 10:29AM
 

การเขียนตอบข้อสอบ (ที่มา. อาจารย์สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์)

การตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมาย มีวิธีการตอบ คือ

1. วางหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคำตอบ

2. นำข้อเท็จจริงในคำถามมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย

3. ให้เหตุผลประกอบ เหตุผลในการตอบอาจจะมาจากทฤษฎีต่างๆ ที่อธิบายไว้ในตำรา คำพิพากษาฎีกา หรือจากหลักกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้

4. สรุปผลทางกฎหมาย

การตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมายมีข้อดี คือ หากตอบผิดธง นักศึกษา ยังอาจจะได้คะแนนจากหลักกฎหมายบ้าง คะแนนส่วนนี้อาจจะช่วยให้นักศึกษา สอบผ่านก็ได้อย่างไรก็ตาม การตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมายยังมีข้อเสีย คือ ต้องเสียเวลาในการเขียนตอบข้อสอบมาก ถ้าข้อสอบมีหลายประเด็น หากตอบ ข้อสอบวิธีนี้นักศึกษาอาจจะทำข้อสอบไม่ทันจึงขอให้นักศึกษาพิจารณาข้อดีของการตอบข้อสอบโดยฟันธงประกอบด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อสอบ มีหลายประเด็น ต้องพิจารณาว่าการตอบข้อสอบวิธีใดจะเหมาะสมกว่า

การตอบข้อสอบโดยฟันธง ก็จะคล้ายกับการตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมาย แต่จะตัดข้อ 1. ที่กล่าวมาแล้วออก ก็คือจะนำข้อเท็จจริงในคำถามมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย พร้อมกับให้เหตุผลประกอบ แล้วจึงสรุปผลทางกฎหมาย การตอบข้อสอบวิธีนี้มีข้อดี คือ ไม่ต้องเสียเวลามากในการตอบข้อสอบ โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อสอบมีหลายประเด็น หากตอบฟันธงนักศึกษาจะทำข้อสอบได้ทันเวลา อย่างไรก็ตาม การตอบข้อสอบวิธีนี้มีข้อเสีย คือ หากนักศึกษา ตอบผิดธง ก็จะไม่ได้คะแนนจากหลักกฎหมายเลย

การสอบชั้น เนติฯ ข้อสอบ 10 ข้อ ใช้เวลาสอบ 4 ชั่วโมง ข้อสอบบางข้ออาจจะมีหลายประเด็น แต่บางข้ออาจจะมีเพียงหนึ่งหรือสองประเด็นหากนักศึกษามัวไปเสียเวลาทำข้อสอบที่มีหลายประเด็นจนหมดเวลาโดยไม่ได้ตอบข้อสอบบางข้อ นักศึกษาก็จะไม่มีโอกาสได้คะแนนจากข้อที่ไม่ได้ตอบเลย ดังนั้น การคุมเวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่นักศึกษาต้องตระหนัก ไว้ให้มาก จากที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าการตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมาย หรือฟันธงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะเรื่องเวลาที่แตกต่างกัน นักศึกษาจึงต้อง พิจารณาว่าข้อสอบข้อใดควรจะตอบด้วยวิธีใด เพื่อจะทำข้อสอบได้ทันเวลาและได้คะแนนบ้างหากตอบผิดธง เช่นข้อสอบที่มีประเด็นน้อยควรตอบโดยวางหลักกฎหมาย ข้อสอบที่มีหลายประเด็นก็อาจจะตอบแบบผสมโดยวางหลักกฎหมายเฉพาะประเด็นที่สำคัญที่สุดเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น ประเด็นอื่น ก็ตอบโดยฟันธง ส่วนข้อสอบที่มีหลายประเด็นมาก ๆ ก็อาจจะตอบโดยฟันธงทั้งหมด

นอกจากจะต้องรู้วิธีการเขียนตอบข้อสอบที่ถูกต้องแล้ว นักศึกษาต้องฝึก เขียนตอบข้อสอบอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้เวลาเท่ากับการสอบจริงของในแต่ละสนามสอบ เพื่อจะได้ควบคุมเวลาในการทำข้อสอบและจะได้ฝึกเลือกว่าข้อใดควรจะตอบโดยฟันธง ข้อใดควรจะตอบแบบผสม หรือข้อใดควรจะตอบโดยวางหลักกฎหมาย นักศึกษายิ่งฝึกเขียนตอบข้อสอบได้มากเท่าใด พัฒนาการก็จะมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเข้าสนามสอบจริงก็จะเลือกวิธีการตอบที่เหมาะสมได้ หากนักศึกษาฝึกเขียนตอบอย่างสม่ำเสมอแล้ว นักศึกษาจะได้คะแนนดีเท่าที่นักศึกษา มีความรู้ได้ ไม่เสียคะแนนไปอย่างไม่น่าจะเสีย

ข้อบกพร่องในการตอบข้อสอบที่พบเป็นประจำก็คือนักศึกษาลอกคำถาม เกือบทั้งหมดมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงจากคำถามบางประการไม่จำเป็นต้องนำมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย เมื่อใส่เข้ามาก็จะทำให้คำตอบวกวน เยิ่นเย้อและเสียเวลาในการเขียนทั้งจะทำให้ได้คะแนนไม่ดีด้วย หลักกฎหมายบางมาตรามีหลายกรณี กรณีใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำตอบนักศึกษาไม่ต้องเขียนมา เพราะจะทำให้อาจารย์สงสัยว่านักศึกษารู้หรือไม่ว่ากรณีตามคำถามเป็นกรณีใด

เช่น การพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 มี 2 กรณีคือ

1. ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด

2. ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล

ตัวอย่างเช่น ก เล็งปืนขึ้นจะยิง ข แต่ ค มาแย่งปืนไปก่อนที่ ก จะยิง เป็นการพยายามกระทำความผิดที่ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือ ก ยิงถูก ข แต่แพทย์ช่วยชีวิตไว้ทัน เป็นการพยายามกระทำความผิดที่ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล คำถามเช่นนี้ นักศึกษาต้องตอบให้ชัดเจนว่า เป็นการพยายามกระทำความผิดกรณีที่ 1 หรือกรณีที่ 2 ไม่ใช่ตอบมาหมดทั้ง 2 กรณี

ข้อบกพร่องต่อไปที่พบก็คือนักศึกษาลอกคำถามมา แล้วฟันธงโดยไม่มีหลักกฎหมายและเหตุผลประกอบ การตอบข้อสอบด้วยวิธีดังกล่าวนี้จะไม่ได้คะแนนเลย การตอบข้อสอบกฎหมายที่ดีต้องนำข้อเท็จจริงจากคำถามมาปรับเข้ากับข้อกฎหมายและให้เหตุผลประกอบที่สั้นกระชับ แต่มีเนื้อหาครบถ้วน

ตัวอย่างการตอบข้อสอบกฎหมายอาญา ภาค 1

คำถาม นายเอกจ้างนายโทอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติที่ตกอับให้ไปฆ่านายตรี ด้วยการใช้ปืนยิงให้ตาย นายโทไม่มีปืนจึงตั้งใจว่าจะไปหาซื้อปืน แต่ก่อนที่นายโทจะได้ปืน นายตรีมาว่ายน้ำในสระที่นายโทคอยดูแลให้ความช่วยเหลือ ผู้มาว่ายน้ำ ขณะที่นายตรีว่ายน้ำอยู่คนเดียวในสระน้ำโดยมีนายโทดูแลความปลอดภัยอยู่นั้น นายตรีเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย นายโทเห็นเหตุการณ์แต่อยากได้เงินค่าจ้าง นายโทจึงแกล้งหลับไม่ช่วยเหลือนายตรี ในเวลาเดียวกันนั้น นายจัตวาเดินผ่านมามองเห็นเหตุการณ์พอดี แต่นายจัตวาก็ไม่ช่วยเหลือนายตรี เช่นเดียวกัน ทั้งที่นายจัตวาไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอันตราย ขณะที่นายตรีกำลังจะจมน้ำนายโทเกิดความสงสาร จึงกระโดดลงสระไปช่วยนายตรีขึ้นมา นายตรีไม่ตาย เพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเท่านั้น ให้วินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายเอก นายโท และนายจัตวา

คำตอบ ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องมีใจความสำคัญว่าการกระทำโดยงดเว้นให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย (มาตรา 59 วรรคท้าย)

ผู้ใดลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามของความผิด (มาตรา 80) (หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คือ เรื่องการกระทำโดยงดเว้นและละเว้น การพยายามกระทำความผิด การกลับใจแก้ไขไม่ให้เกิดผล ผู้ใช้ ขอบเขตของการใช้ และเหตุส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 80, 82, 84, 87, 89 ซึ่งไม่อาจวางหลักทั้งหมดได้ทันจึงวางหลักเฉพาะ 2 มาตราดังกล่าว)

ความรับผิดทางอาญาของนายโทขณะที่นายตรีเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย เมื่อนายโทมองเห็นแล้วนายโทยังแกล้งหลับไม่ช่วยเหลือเป็นการกระทำโดยงดเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย ซึ่งให้หมายความรวมถึง การให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้อง กระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย เพราะนายโทมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงที่จะต้อง คอยดูแลให้ความช่วยเหลือนายตรีผู้มาว่ายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผล คือ ความตายของนายตรี การไม่เคลื่อนไหวของนายโทจึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นแล้ว

เมื่อนายโทแกล้งหลับไม่ช่วยเหลือขณะที่นายตรีกำลังจะจมน้ำ แต่นายตรีไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของนายโทผ่านพ้นขั้นตระเตรียมเข้าสู่ขั้นลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะการกระทำของนายโทใกล้ชิดต่อผลคือความตายของนายตรีจากการ จมน้ำตายแล้ว ต้องถือว่านายโทพยายามฆ่านายตรีโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 80 แม้นายโทจะพยายามฆ่านายตรีดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แต่การที่นายโทเกิดความสงสารจึงกระโดดลงสระไปช่วยนายตรีขึ้นมา นายตรีไม่ตาย เป็นกรณีที่ ผู้พยายามกระทำความผิด กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล เพราะหากนายโทไม่ช่วยนายตรีคงจะจมน้ำตาย เนื่องจากไม่มีคนอื่นช่วย เมื่อนายโทช่วย นายโทจึงได้รับยกเว้นโทษในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 อย่างไรก็ตาม การกระทำของนายโทเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของนายตรี จึงเป็นกรณีการที่ได้กระทำไปแล้ว ต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด นายโทจึงต้องรับโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายตรีโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296, 82

ความรับผิดทางอาญาของนายเอก แม้นายเอกจะจ้างนายโทให้ไปฆ่า นายตรีด้วยการใช้ปืนยิง แต่นายโทไปฆ่านายตรีด้วยการไม่ช่วยเหลือนายตรี เมื่อนายโทกระทำความผิดถึงขั้นลงมือ ซึ่งถือว่าเป็นการพยายามฆ่านายตรีโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยเจตนาดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แม้นายโทไม่ได้ใช้ปืนยิงนายตรีตามที่นายเอกใช้ แต่ก็ถือว่าการกระทำความผิดของนายโทยังอยู่ในขอบเขต การใช้ของนายเอก เพราะนายเอกเป็นผู้ก่อให้นายโทไปฆ่านายตรีด้วยการจ้าง เมื่อนายโทไปกระทำความผิด ก็ถือว่านายโทกระทำความผิด เพราะการก่อของนายเอกโดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการฆ่า เมื่อนายโทผู้ถูกใช้ ได้กระทำความผิด นายเอกผู้ใช้ก็ต้องรับโทษเสมือนตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคสอง, 87 วรรคแรก แม้การกลับใจแก้ไขไม่ให้เกิดผลของนายโท จะทำให้นายโทได้รับยกเว้นโทษในความผิดฐานพยายามฆ่านายตรี โดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยเจตนา ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แต่ก็จะนำเหตุยกเว้นโทษนี้มาใช้กับนายเอกผู้ใช้ไม่ได้ เพราะการกลับใจเป็นเหตุส่วนตัวของนายโท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 89 นายเอกจึงมีความผิดและต้องรับโทษในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยเจตนา โดยเป็นผู้ใช้

ความรับผิดทางอาญาของนายจัตวา ขณะที่นายตรีเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย นายจัตวาเดินผ่านมามองเห็นเหตุการณ์พอดี แต่นายจัตวาก็ไม่ช่วยเหลือนายตรีเช่นเดียวกัน ทั้งที่นายจัตวาไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอันตราย ไม่เป็น การกระทำโดยงดเว้นในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เพราะนายจัตวาไม่มีหน้าที่ที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผล แต่ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยละเว้น ไม่ช่วยเหลือผู้ซึ่งตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดย ไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเอง แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็นตามมาตรา 374

ข้อสังเกต คำถามข้อนี้มีหลายประเด็นหากตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมายจะทำข้อสอบไม่ทัน จึงควรตอบโดยฟันธง แต่เพื่อป้องกันความผิดพลาด จึงตอบ แบบผสม ข้อความในหลักกฎหมายไม่จำเป็นต้องตรงตามตัวบททุกถ้อยคำ แต่ขอให้ได้ใจความสำคัญครบถ้วน

สำหรับเลขมาตราของกฎหมายที่มีในคำตอบ หากนักศึกษาจำเลขมาตราไม่ได้ก็ไม่ต้องใส่ เพราะหากตอบหลักกฎหมายถูกโดย ไม่มีเลขมาตรานักศึกษาก็จะได้คะแนนดีแล้ว ถ้านักศึกษาตอบหลักกฎหมายถูก แต่ใส่เลขมาตราผิด อาจจะถูกหักคะแนน

คำถามข้อนี้มีผู้ถูกกระทำเพียงคนเดียว แต่มีผู้กระทำหลายคน การตอบ ข้อสอบต้องวินิจฉัยผู้กระทำที่เป็นผู้ลงมือกระทำความผิด คือ นายโทเสียก่อน ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงวินิจฉัยผู้กระทำที่เป็น ตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้สนับสนุน ต่อไป หากไม่วินิจฉัยตามลำดับดังกล่าว แต่ไปวินิจฉัยผู้ใช้ก่อน คำตอบจะวกวน

เช่น การวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายเอกก่อน นักศึกษาก็ต้องวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโทในการวินิจฉัยความรับผิด ของนายเอกด้วย เพราะผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนตัวการ เมื่อถึงการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโท ก็จะต้องวินิจฉัยความรับผิดของนายโทซึ่งวินิจฉัยไปแล้วขณะที่วินิจฉัยความรับผิดของนายเอก จะทำให้คำตอบวกวนสับสน

ดังนั้น ก่อนตอบข้อสอบนักศึกษาต้องจัดลำดับเสียก่อนว่าจะวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของ 1.นายโท 2.นายเอก และ 3.นายจัตวา ตามลำดับ และในความรับผิดของแต่ละบุคคลจะต้องวินิจฉัยประเด็นใดบ้าง ก็ต้องจัดลำดับไว้

1. กรณีของนายโทก็ต้องวินิจฉัยว่า

1.1 เป็นการกระทำโดยงดเว้น

1.2 เป็นการพยายามกระทำความผิด

1.3 มีการกลับใจได้รับยกเว้นโทษ

1.4 ต้องรับโทษในความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว

2. กรณีของนายเอกต้องวินิจฉัยว่า

2.1 ขอบเขตและผลของการใช้ 2.2 เหตุส่วนตัวของผู้กระทำความผิด

 3. กรณีของนายจัตวาต้องวินิจฉัยว่า

 3.1 ไม่เป็นการกระทำโดยงดเว้น

3.2 แต่เป็นการละเว้น

ข้อเท็จจริงในคำถามบางอย่าง เช่น "นายโทเป็นอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติที่ตกอับ" ไม่ต้องเขียนมาในคำตอบ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ต้องนำมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> การเรียนเนติฯ ให้ประสบความสำเร็จ
โดย admin advanced law - เสาร์, 7 กรกฎาคม 2012, 09:31AM
 

 การเรียนการสอนในระดับชั้นเนติบัณฑิตยสภา จะมีความเข้มข้นในด้านเนื้อหาและ

การปรับใช้กฎหมายที่มากกว่าการเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาตรี เนื่องจากการเรียนใน

ชั้นปริญญาตรีนั้นจะเป็นการสอนให้นักศึกษารู้และเข้าใจในตัวบทกฎหมายแต่ละเรื่องว่า

หลักเกณฑ์และความหมายของแต่ละบทมาตรา มีความหมายว่าอย่างไร นำไปใช้บังคับในกรณีใด

ด้วยเงื่อนไขและหลักเกณฑ์อย่างไร เมื่อนักศึกษารู้และเข้าใจเนื้อหาของกฎหมายกันมาแล้วในการ

เรียนชั้นปริญญาตรี ต่อมาก็พัฒนามาเป็นการเรียนในระดับชั้นเนติบัณฑิต ซึ่งในการเรียนกฎหมาย

ในชั้นนี้ จะเน้นเรื่องขอการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและปรับบทกฎหมายและนำกฎหมายไปบังคับใช้

กับกรณีต่างๆ ซึ่งหากนักศึกษามีความรู้พื้นฐานในระดับปริญญาตรีค่อนข้างดีก็จะง่ายสำหรับการ

เรียนเนติฯ แต่หากนักศึกษาที่จบปริญญาตรีมานาน อาจต้องทบทวนความรู้พื้นฐานกฎหมายเพิ่ม

เติมให้มากขึ้น

 สำหรับการเรียนเนติฯ ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน ผู้ที่มีเวลาว่างก็สามารถเข้า

เรียนได้ด้วยตนเองที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายฯ แต่สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาหรือไม่มีโอกาสได้มาเรียน

ด้วยตัวเอง ก็ต้องอาศัยการอ่านหนังสือหรืออ่านคำบรรยายของสำนักอบรมศึกษากฎหมายฯ

ในที่นี้ ขอแนะนำแนวทางในการเรียนเนติฯ ในส่วนที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ที่ต้อง

การประสบความสำเร็จในการศึกษา คือ

 1.ตัวบทกฎหมาย เป็นหัวใจและเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องจำหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อยกเว้น

ในมาตราสำคัญได้ทั้งหมด ด้วยการท่องจำให้ขึ้นใจ จดจำตัวเลจมาตราได้ก็จะเป็นผลดีมากขึ้น

 2.ต้องเข้าใจเนื้อหาและความหมายของมาตราที่สำคัญนั้นๆ ได้ ด้วยการอ่านตำราหรือ

คำบรรยายเนติฯ ประกอบกับการศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาที่วางบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยว

ข้องกับหลักกฎหมายนั้นๆ

 3.เมื่อจำตัวบทได้ เข้าใจกฎหมายแล้ว ก็ต้องฝึกทำแบบฝึกหัดหรือข้อสอบเก่า ที่เกี่ยว

ข้องกับเรื่องนั้นๆ ฝึกทำได้มากเท่าไรก็จะทำให้มีความเข้าใจและเชี่ยวชาญในการจับประเด็น การคิด

การตอบได้อย่างดี

 4.ต้องมีวินัยในการอ่านหนังสือ การทบทวนบทเรียน และการท่องจำตัวบทกฎหมาย ซึ่ง

การมีวินัยนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเรียน เพราะความสำเร็จย่อมไม่มีทางได้มาด้วยความ

ง่ายดาย แต่จะได้มาก็ด้วยความพากเพียร อุตสาหะของผู้เรียนเท่านั้น


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ตัวอย่างข้อสอบ วิอาญา จาก อ.สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์
โดย admin advanced law - เสาร์, 7 กรกฎาคม 2012, 09:27AM
 
คำถาม
นายเอกเป็นโจทก์ฟ้องนายโทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่า โจทก์เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถร จำเลยเป็นนายอำเภอสองพี่น้อง มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรให้เป็นไปตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 31 ธันวาคม 2550 จำเลยทราบว่าโจทก์และประชาชนร้องเรียนต่อจำเลย ว่านายตรีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรมีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมาย และแก้ไขเพิ่มเติมสอดแทรกโครงการ 20 โครงการ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรได้พิจารณาลงมติเห็นชอบไปแล้ว ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้จำเลยพิจารณาสอบสวนคุณสมบัติของนายตรี และได้ชี้มูลความผิดว่าการกระทำของนายตรีเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 265, 157 และ 161 จำเลยทราบคำสั่งแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด และไม่ดำเนินคดีแพ่งคดีอาญาแก่นายตรี จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ ประชาชน และทางราชการได้รับความเสียหายเสียเงินงบประมาณตามโครงการ 20 โครงการ และต้องเสียเงินค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและเบี้ยประชุมให้แก่นายตรี นายตรีเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรย่อมไม่ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินคืนจากตนเอง ขอให้ลงโทษนายโทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานฟังว่านายโทซึ่งเป็นจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ให้วินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาคดีนี้อย่างไร

คำตอบโดยย่อ
- โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดตาม ปอ. มาตรา 157 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1510/2551)
- การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลแทนองค์การบริหารส่วนตำบลได้หรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่องกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวหา จึงไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1510/2551)
- เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ปวิอ. มาตรา 195 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์จึงต้องพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ข้อสังเกต
การวินิจฉัยเรื่องผู้เสียหายมีข้อวินิจฉัย 2 ตอน โดยต้องนำข้อเท็จจริงที่ว่า นายตรีเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรย่อมไม่ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินคืนจากตนเอง มาตอบในประเด็นหลังด้วย และคำถามข้อนี้นำฎีกามาเพิ่มข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเพิ่มเข้ามา ก็ต้องตอบปัญหานี้ด้วย ขอให้ดูข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาจะไม่มีปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และขอให้สังเกตว่า คำถามที่ถามว่า จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาอย่างไร คำตอบมักจะไม่ใช่ตอบว่า รอหรือไม่รอ เพราะการรอหรือไม่รอเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งมักจะไม่นำมาเป็นคำถาม แต่คำถามจะถามในปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1510/2551 ฎ.ส.ล.1 น.137
แม้จำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอ มีหน้าที่กำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบราชการ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ให้สอบสวนคุณสมบัติของประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยตรงแต่ประการใด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล แทนองค์การบริหารส่วนตำบลได้หรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่องกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวหา จึงไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
-
ที่มา http://www.siamjurist.com/forums/318.html


หน้า: ()  1 ...  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19