การเขียนตอบข้อสอบ (ที่มา. อาจารย์สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์)
การตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมาย มีวิธีการตอบ คือ
1. วางหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคำตอบ
2. นำข้อเท็จจริงในคำถามมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย
3. ให้เหตุผลประกอบ เหตุผลในการตอบอาจจะมาจากทฤษฎีต่างๆ ที่อธิบายไว้ในตำรา คำพิพากษาฎีกา หรือจากหลักกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ได้
4. สรุปผลทางกฎหมาย
การตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมายมีข้อดี คือ หากตอบผิดธง นักศึกษา ยังอาจจะได้คะแนนจากหลักกฎหมายบ้าง คะแนนส่วนนี้อาจจะช่วยให้นักศึกษา สอบผ่านก็ได้อย่างไรก็ตาม การตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมายยังมีข้อเสีย คือ ต้องเสียเวลาในการเขียนตอบข้อสอบมาก ถ้าข้อสอบมีหลายประเด็น หากตอบ ข้อสอบวิธีนี้นักศึกษาอาจจะทำข้อสอบไม่ทันจึงขอให้นักศึกษาพิจารณาข้อดีของการตอบข้อสอบโดยฟันธงประกอบด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อสอบ มีหลายประเด็น ต้องพิจารณาว่าการตอบข้อสอบวิธีใดจะเหมาะสมกว่า
การตอบข้อสอบโดยฟันธง ก็จะคล้ายกับการตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมาย แต่จะตัดข้อ 1. ที่กล่าวมาแล้วออก ก็คือจะนำข้อเท็จจริงในคำถามมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย พร้อมกับให้เหตุผลประกอบ แล้วจึงสรุปผลทางกฎหมาย การตอบข้อสอบวิธีนี้มีข้อดี คือ ไม่ต้องเสียเวลามากในการตอบข้อสอบ โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อสอบมีหลายประเด็น หากตอบฟันธงนักศึกษาจะทำข้อสอบได้ทันเวลา อย่างไรก็ตาม การตอบข้อสอบวิธีนี้มีข้อเสีย คือ หากนักศึกษา ตอบผิดธง ก็จะไม่ได้คะแนนจากหลักกฎหมายเลย
การสอบชั้น เนติฯ ข้อสอบ 10 ข้อ ใช้เวลาสอบ 4 ชั่วโมง ข้อสอบบางข้ออาจจะมีหลายประเด็น แต่บางข้ออาจจะมีเพียงหนึ่งหรือสองประเด็นหากนักศึกษามัวไปเสียเวลาทำข้อสอบที่มีหลายประเด็นจนหมดเวลาโดยไม่ได้ตอบข้อสอบบางข้อ นักศึกษาก็จะไม่มีโอกาสได้คะแนนจากข้อที่ไม่ได้ตอบเลย ดังนั้น การคุมเวลาในการทำข้อสอบแต่ละข้อ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่นักศึกษาต้องตระหนัก ไว้ให้มาก จากที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าการตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมาย หรือฟันธงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย โดยเฉพาะเรื่องเวลาที่แตกต่างกัน นักศึกษาจึงต้อง พิจารณาว่าข้อสอบข้อใดควรจะตอบด้วยวิธีใด เพื่อจะทำข้อสอบได้ทันเวลาและได้คะแนนบ้างหากตอบผิดธง เช่นข้อสอบที่มีประเด็นน้อยควรตอบโดยวางหลักกฎหมาย ข้อสอบที่มีหลายประเด็นก็อาจจะตอบแบบผสมโดยวางหลักกฎหมายเฉพาะประเด็นที่สำคัญที่สุดเพียงหนึ่งหรือสองประเด็น ประเด็นอื่น ก็ตอบโดยฟันธง ส่วนข้อสอบที่มีหลายประเด็นมาก ๆ ก็อาจจะตอบโดยฟันธงทั้งหมด
นอกจากจะต้องรู้วิธีการเขียนตอบข้อสอบที่ถูกต้องแล้ว นักศึกษาต้องฝึก เขียนตอบข้อสอบอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้เวลาเท่ากับการสอบจริงของในแต่ละสนามสอบ เพื่อจะได้ควบคุมเวลาในการทำข้อสอบและจะได้ฝึกเลือกว่าข้อใดควรจะตอบโดยฟันธง ข้อใดควรจะตอบแบบผสม หรือข้อใดควรจะตอบโดยวางหลักกฎหมาย นักศึกษายิ่งฝึกเขียนตอบข้อสอบได้มากเท่าใด พัฒนาการก็จะมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเข้าสนามสอบจริงก็จะเลือกวิธีการตอบที่เหมาะสมได้ หากนักศึกษาฝึกเขียนตอบอย่างสม่ำเสมอแล้ว นักศึกษาจะได้คะแนนดีเท่าที่นักศึกษา มีความรู้ได้ ไม่เสียคะแนนไปอย่างไม่น่าจะเสีย
ข้อบกพร่องในการตอบข้อสอบที่พบเป็นประจำก็คือนักศึกษาลอกคำถาม เกือบทั้งหมดมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงจากคำถามบางประการไม่จำเป็นต้องนำมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย เมื่อใส่เข้ามาก็จะทำให้คำตอบวกวน เยิ่นเย้อและเสียเวลาในการเขียนทั้งจะทำให้ได้คะแนนไม่ดีด้วย หลักกฎหมายบางมาตรามีหลายกรณี กรณีใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำตอบนักศึกษาไม่ต้องเขียนมา เพราะจะทำให้อาจารย์สงสัยว่านักศึกษารู้หรือไม่ว่ากรณีตามคำถามเป็นกรณีใด
เช่น การพยายามกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 มี 2 กรณีคือ
1. ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด
2. ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล
ตัวอย่างเช่น ก เล็งปืนขึ้นจะยิง ข แต่ ค มาแย่งปืนไปก่อนที่ ก จะยิง เป็นการพยายามกระทำความผิดที่ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด หรือ ก ยิงถูก ข แต่แพทย์ช่วยชีวิตไว้ทัน เป็นการพยายามกระทำความผิดที่ลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล คำถามเช่นนี้ นักศึกษาต้องตอบให้ชัดเจนว่า เป็นการพยายามกระทำความผิดกรณีที่ 1 หรือกรณีที่ 2 ไม่ใช่ตอบมาหมดทั้ง 2 กรณี
ข้อบกพร่องต่อไปที่พบก็คือนักศึกษาลอกคำถามมา แล้วฟันธงโดยไม่มีหลักกฎหมายและเหตุผลประกอบ การตอบข้อสอบด้วยวิธีดังกล่าวนี้จะไม่ได้คะแนนเลย การตอบข้อสอบกฎหมายที่ดีต้องนำข้อเท็จจริงจากคำถามมาปรับเข้ากับข้อกฎหมายและให้เหตุผลประกอบที่สั้นกระชับ แต่มีเนื้อหาครบถ้วน
ตัวอย่างการตอบข้อสอบกฎหมายอาญา ภาค 1
คำถาม นายเอกจ้างนายโทอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติที่ตกอับให้ไปฆ่านายตรี ด้วยการใช้ปืนยิงให้ตาย นายโทไม่มีปืนจึงตั้งใจว่าจะไปหาซื้อปืน แต่ก่อนที่นายโทจะได้ปืน นายตรีมาว่ายน้ำในสระที่นายโทคอยดูแลให้ความช่วยเหลือ ผู้มาว่ายน้ำ ขณะที่นายตรีว่ายน้ำอยู่คนเดียวในสระน้ำโดยมีนายโทดูแลความปลอดภัยอยู่นั้น นายตรีเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย นายโทเห็นเหตุการณ์แต่อยากได้เงินค่าจ้าง นายโทจึงแกล้งหลับไม่ช่วยเหลือนายตรี ในเวลาเดียวกันนั้น นายจัตวาเดินผ่านมามองเห็นเหตุการณ์พอดี แต่นายจัตวาก็ไม่ช่วยเหลือนายตรี เช่นเดียวกัน ทั้งที่นายจัตวาไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอันตราย ขณะที่นายตรีกำลังจะจมน้ำนายโทเกิดความสงสาร จึงกระโดดลงสระไปช่วยนายตรีขึ้นมา นายตรีไม่ตาย เพียงแต่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายเท่านั้น ให้วินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายเอก นายโท และนายจัตวา
คำตอบ ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องมีใจความสำคัญว่าการกระทำโดยงดเว้นให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย (มาตรา 59 วรรคท้าย)
ผู้ใดลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ผู้นั้นพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามของความผิด (มาตรา 80) (หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด คือ เรื่องการกระทำโดยงดเว้นและละเว้น การพยายามกระทำความผิด การกลับใจแก้ไขไม่ให้เกิดผล ผู้ใช้ ขอบเขตของการใช้ และเหตุส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 80, 82, 84, 87, 89 ซึ่งไม่อาจวางหลักทั้งหมดได้ทันจึงวางหลักเฉพาะ 2 มาตราดังกล่าว)
ความรับผิดทางอาญาของนายโทขณะที่นายตรีเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย เมื่อนายโทมองเห็นแล้วนายโทยังแกล้งหลับไม่ช่วยเหลือเป็นการกระทำโดยงดเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย ซึ่งให้หมายความรวมถึง การให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้อง กระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย เพราะนายโทมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงที่จะต้อง คอยดูแลให้ความช่วยเหลือนายตรีผู้มาว่ายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผล คือ ความตายของนายตรี การไม่เคลื่อนไหวของนายโทจึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นแล้ว
เมื่อนายโทแกล้งหลับไม่ช่วยเหลือขณะที่นายตรีกำลังจะจมน้ำ แต่นายตรีไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของนายโทผ่านพ้นขั้นตระเตรียมเข้าสู่ขั้นลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะการกระทำของนายโทใกล้ชิดต่อผลคือความตายของนายตรีจากการ จมน้ำตายแล้ว ต้องถือว่านายโทพยายามฆ่านายตรีโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 80 แม้นายโทจะพยายามฆ่านายตรีดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แต่การที่นายโทเกิดความสงสารจึงกระโดดลงสระไปช่วยนายตรีขึ้นมา นายตรีไม่ตาย เป็นกรณีที่ ผู้พยายามกระทำความผิด กลับใจแก้ไขไม่ให้การกระทำนั้นบรรลุผล เพราะหากนายโทไม่ช่วยนายตรีคงจะจมน้ำตาย เนื่องจากไม่มีคนอื่นช่วย เมื่อนายโทช่วย นายโทจึงได้รับยกเว้นโทษในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 อย่างไรก็ตาม การกระทำของนายโทเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของนายตรี จึงเป็นกรณีการที่ได้กระทำไปแล้ว ต้องตามบทกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิด นายโทจึงต้องรับโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายตรีโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296, 82
ความรับผิดทางอาญาของนายเอก แม้นายเอกจะจ้างนายโทให้ไปฆ่า นายตรีด้วยการใช้ปืนยิง แต่นายโทไปฆ่านายตรีด้วยการไม่ช่วยเหลือนายตรี เมื่อนายโทกระทำความผิดถึงขั้นลงมือ ซึ่งถือว่าเป็นการพยายามฆ่านายตรีโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยเจตนาดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แม้นายโทไม่ได้ใช้ปืนยิงนายตรีตามที่นายเอกใช้ แต่ก็ถือว่าการกระทำความผิดของนายโทยังอยู่ในขอบเขต การใช้ของนายเอก เพราะนายเอกเป็นผู้ก่อให้นายโทไปฆ่านายตรีด้วยการจ้าง เมื่อนายโทไปกระทำความผิด ก็ถือว่านายโทกระทำความผิด เพราะการก่อของนายเอกโดยไม่ต้องคำนึงถึงวิธีการฆ่า เมื่อนายโทผู้ถูกใช้ ได้กระทำความผิด นายเอกผู้ใช้ก็ต้องรับโทษเสมือนตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคสอง, 87 วรรคแรก แม้การกลับใจแก้ไขไม่ให้เกิดผลของนายโท จะทำให้นายโทได้รับยกเว้นโทษในความผิดฐานพยายามฆ่านายตรี โดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยเจตนา ดังที่วินิจฉัยมาแล้ว แต่ก็จะนำเหตุยกเว้นโทษนี้มาใช้กับนายเอกผู้ใช้ไม่ได้ เพราะการกลับใจเป็นเหตุส่วนตัวของนายโท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 89 นายเอกจึงมีความผิดและต้องรับโทษในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยเจตนา โดยเป็นผู้ใช้
ความรับผิดทางอาญาของนายจัตวา ขณะที่นายตรีเป็นตะคริวกำลังจะจมน้ำตาย นายจัตวาเดินผ่านมามองเห็นเหตุการณ์พอดี แต่นายจัตวาก็ไม่ช่วยเหลือนายตรีเช่นเดียวกัน ทั้งที่นายจัตวาไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอันตราย ไม่เป็น การกระทำโดยงดเว้นในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เพราะนายจัตวาไม่มีหน้าที่ที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผล แต่ก็ถือว่าเป็นการกระทำโดยละเว้น ไม่ช่วยเหลือผู้ซึ่งตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดย ไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเอง แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็นตามมาตรา 374
ข้อสังเกต คำถามข้อนี้มีหลายประเด็นหากตอบข้อสอบโดยวางหลักกฎหมายจะทำข้อสอบไม่ทัน จึงควรตอบโดยฟันธง แต่เพื่อป้องกันความผิดพลาด จึงตอบ แบบผสม ข้อความในหลักกฎหมายไม่จำเป็นต้องตรงตามตัวบททุกถ้อยคำ แต่ขอให้ได้ใจความสำคัญครบถ้วน
สำหรับเลขมาตราของกฎหมายที่มีในคำตอบ หากนักศึกษาจำเลขมาตราไม่ได้ก็ไม่ต้องใส่ เพราะหากตอบหลักกฎหมายถูกโดย ไม่มีเลขมาตรานักศึกษาก็จะได้คะแนนดีแล้ว ถ้านักศึกษาตอบหลักกฎหมายถูก แต่ใส่เลขมาตราผิด อาจจะถูกหักคะแนน
คำถามข้อนี้มีผู้ถูกกระทำเพียงคนเดียว แต่มีผู้กระทำหลายคน การตอบ ข้อสอบต้องวินิจฉัยผู้กระทำที่เป็นผู้ลงมือกระทำความผิด คือ นายโทเสียก่อน ในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงวินิจฉัยผู้กระทำที่เป็น ตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้สนับสนุน ต่อไป หากไม่วินิจฉัยตามลำดับดังกล่าว แต่ไปวินิจฉัยผู้ใช้ก่อน คำตอบจะวกวน
เช่น การวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายเอกก่อน นักศึกษาก็ต้องวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโทในการวินิจฉัยความรับผิด ของนายเอกด้วย เพราะผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนตัวการ เมื่อถึงการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของนายโท ก็จะต้องวินิจฉัยความรับผิดของนายโทซึ่งวินิจฉัยไปแล้วขณะที่วินิจฉัยความรับผิดของนายเอก จะทำให้คำตอบวกวนสับสน
ดังนั้น ก่อนตอบข้อสอบนักศึกษาต้องจัดลำดับเสียก่อนว่าจะวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของ 1.นายโท 2.นายเอก และ 3.นายจัตวา ตามลำดับ และในความรับผิดของแต่ละบุคคลจะต้องวินิจฉัยประเด็นใดบ้าง ก็ต้องจัดลำดับไว้
1. กรณีของนายโทก็ต้องวินิจฉัยว่า
1.1 เป็นการกระทำโดยงดเว้น
1.2 เป็นการพยายามกระทำความผิด
1.3 มีการกลับใจได้รับยกเว้นโทษ
1.4 ต้องรับโทษในความผิดที่ได้กระทำไปแล้ว
2. กรณีของนายเอกต้องวินิจฉัยว่า
2.1 ขอบเขตและผลของการใช้ 2.2 เหตุส่วนตัวของผู้กระทำความผิด
3. กรณีของนายจัตวาต้องวินิจฉัยว่า
3.1 ไม่เป็นการกระทำโดยงดเว้น
3.2 แต่เป็นการละเว้น
ข้อเท็จจริงในคำถามบางอย่าง เช่น "นายโทเป็นอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติที่ตกอับ" ไม่ต้องเขียนมาในคำตอบ เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ต้องนำมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย