รูปภาพของadmin advanced law
ตัวอย่างข้อสอบ วิอาญา จาก อ.สมชาย พงษ์พัฒนาศิลป์
โดย admin advanced law - เสาร์, 7 กรกฎาคม 2012, 09:27AM
 
คำถาม
นายเอกเป็นโจทก์ฟ้องนายโทขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ว่า โจทก์เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถร จำเลยเป็นนายอำเภอสองพี่น้อง มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรให้เป็นไปตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 18 ถึง 31 ธันวาคม 2550 จำเลยทราบว่าโจทก์และประชาชนร้องเรียนต่อจำเลย ว่านายตรีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรมีลักษณะต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมาย และแก้ไขเพิ่มเติมสอดแทรกโครงการ 20 โครงการ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรได้พิจารณาลงมติเห็นชอบไปแล้ว ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้จำเลยพิจารณาสอบสวนคุณสมบัติของนายตรี และได้ชี้มูลความผิดว่าการกระทำของนายตรีเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 265, 157 และ 161 จำเลยทราบคำสั่งแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด และไม่ดำเนินคดีแพ่งคดีอาญาแก่นายตรี จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ ประชาชน และทางราชการได้รับความเสียหายเสียเงินงบประมาณตามโครงการ 20 โครงการ และต้องเสียเงินค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและเบี้ยประชุมให้แก่นายตรี นายตรีเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรย่อมไม่ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินคืนจากตนเอง ขอให้ลงโทษนายโทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานฟังว่านายโทซึ่งเป็นจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จำคุก 2 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ ให้วินิจฉัยว่า ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาคดีนี้อย่างไร

คำตอบโดยย่อ
- โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดตาม ปอ. มาตรา 157 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1510/2551)
- การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลแทนองค์การบริหารส่วนตำบลได้หรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่องกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวหา จึงไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นผู้เสียหาย และมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1510/2551)
- เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ปวิอ. มาตรา 195 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์จึงต้องพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ข้อสังเกต
การวินิจฉัยเรื่องผู้เสียหายมีข้อวินิจฉัย 2 ตอน โดยต้องนำข้อเท็จจริงที่ว่า นายตรีเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาเถรย่อมไม่ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินคืนจากตนเอง มาตอบในประเด็นหลังด้วย และคำถามข้อนี้นำฎีกามาเพิ่มข้อเท็จจริงเรื่องปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยเพิ่มเข้ามา ก็ต้องตอบปัญหานี้ด้วย ขอให้ดูข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาจะไม่มีปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย และขอให้สังเกตว่า คำถามที่ถามว่า จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลรอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาอย่างไร คำตอบมักจะไม่ใช่ตอบว่า รอหรือไม่รอ เพราะการรอหรือไม่รอเป็นดุลพินิจซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งมักจะไม่นำมาเป็นคำถาม แต่คำถามจะถามในปัญหาข้อกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1510/2551 ฎ.ส.ล.1 น.137
แม้จำเลยซึ่งเป็นนายอำเภอ มีหน้าที่กำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบราชการ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ให้สอบสวนคุณสมบัติของประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็เป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยอันเป็นผลเสียหายแก่รัฐ มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลโดยตรงแต่ประการใด โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย การที่โจทก์จะมีอำนาจฟ้องประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล แทนองค์การบริหารส่วนตำบลได้หรือไม่ ก็เป็นคนละเรื่องกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยตามที่โจทก์กล่าวหา จึงไม่ทำให้โจทก์กลายเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
-
ที่มา http://www.siamjurist.com/forums/318.html