admin advanced law

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()
รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> พี่ขโมยเงินน้อง น้องขโมยรถพี่ ผลทางกฎหมายอาญาจะเป็นอย่างไร
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 04:01PM
 
พี่ขโมยเงินน้อง น้องขโมยรถพี่ ผลทางกฎหมายอาญาจะเป็นอย่างไร

กฎหมายอาญากำหนดไว้ว่า ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์, วิ่งราวทรัพย์,
ฉ้อโกง, ยักยอก, ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุก เป็นต้น ถ้าเป็นการกระทำที่พี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
กระทำต่อกัน แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้
และนอกจากนี้ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ (ตามประมวล
กฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคสอง)

โดยปกติแล้วความผิดฐานลักทรัพย์หรือวิ่งราวทรัพย์นั้นเป็นความผิดซึ่งยอมความไม่ได้ เพราะถือ
ว่าเป็นความผิดต่อแผ่นดิน (เป็นความผิดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากผู้
กระทำความผิดเป็นพี่หรือน้องที่ร่วมบิดามารดาเดียวกัน กฎหมายก็อนุโลมให้ว่าแม้ความผิดอาญาที่กระทำ
นั้นเป็นความที่ยอมความไม่ได้ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความกันได้ และศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมาย
กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

กฎหมายให้ประโยชน์เฉพาะพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันเท่านั้น (คือพี่น้องที่มีพ่อแม่เดียวกันเท่า
นั้น) ฉะนั้น หากเป็นเพียงพี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดา ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้ เช่น อาจจะ
เป็นพี่น้องพ่อเดียวกันแต่คนละแม่ หรือแม่เดียวกันแต่คนละพ่อ เช่นนี้ย่อมไม่ได้รับประโยชน์ตามที่กฎหมาย
กำหนด ฉะนั้น มีความผิดและรับโทษเต็มๆ ตามกฎหมายกันเลยทีเดียวนะจ๊ะ
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> "ลูกจ้าง" ควรรู้เทคนิคทางกฎหมาย เพื่อไม่ตกหลุมพรางของ "นายจ้าง"
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 12:27PM
 
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้อ่านข่าวเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงาน อ่านรายละเอียดแล้วรู้สึกเศร้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า "ผู้รู้เงื่อนแง่ของกฎหมาย ใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อเอาเปรียบผู้ไม่รู้กฎหมาย" ซึ่งเป็นการเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด

เรื่องราวมันมีอยู่ว่า บริษัท(นายจ้าง) ต้องการเลิกจ้างพนักงาน(ลูกจ้าง) แต่เนื่องจากหากนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ด้วยความที่นายจ้างรู้กฎหมายคุ้มครองแรงงานว่า "การเลิกจ้าง" ตามกฎหมายซึ่งจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างนั้น ไม่รวมกรณีที่ "ลูกจ้างลาออก" เอง ดังนั้น นายจ้างจึงเชิญลูกจ้างมาพูดคุย เสนอให้ลูกจ้างทำ "หนังสือขอลาออก" แล้วจะให้เงินจำนวนหนึ่งตอบแทน (ซึ่งย่อมน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดแน่นอน) ดีนะ!! ที่ลูกจ้าง รู้ทัน จึงไม่ยอมทำหนังสือลาออกแต่อย่างใด เห็นอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้คิดต่อไปว่า "เทคนิคเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ นายจ้างได้มาจากที่ใด"

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมาย ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย และเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชากฎหมาย ไม่อยากจะคิดเลยว่าเทคนิคพวกนี้นายจ้างได้มาจากนักกฎหมาย เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจอันไร้ซึ่งคุณธรรมและความยุติธรรมที่นักกฎหมายที่ดีพึงมี และพึงตระหนักเป็นที่สุดว่ากฎหมายมีไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสงบสุขแก่บ้านเมืองและอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดแก่ประชาชนผู้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย นักกฎหมายที่ดีควรใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน อย่าเห็นแก่เงินของพวกนายทุนกันเลย เพราะทุกวันนี้สังคมก็อยู่ยากขึ้นทุกวัน (มีแต่คนจ้องเอารัดเอาเปรียบกัน หาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเอง ขาดศีลธรรมในจิตใจ)

ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ที่จะนำเสนอในวันนี้ อยากจะให้ทราบว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1.เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการให้ความคุ้มครองลูกจ้างซึ่งลูกจ้างพึงได้รับการปฏิบัติ

2.เป็นกฎหมายที่เคร่งครัด เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนั้นคู่สัญญาจึงไม่อาจตกลงยกเว้นไปในทางที่ทำให้ลูกจ้างเสียประโยชน์ได้ (หากฝ่าฝืนสัญญาเป็นโมฆะตาม มาตรา 151)

สัญญาที่นายจ้างทำกับลูกจ้าง หากเป็นการแตกต่างไปจากที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด สัญญานั้นย่อมเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ เช่น ทำสัญญาตกลงให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือสัญญาที่ตกลงว่าหากลูกจ้างลาออกก่อนภายใน 24 เดือน ขอสละสิทธิในการรับเงินประกันคืน เป็นต้น

นอกจากนี้อยากจะให้ทราบว่า กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง(โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่มีเหตุอันสมควร) ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอะไรบ้าง คำตอบคือ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินดังต่อไปนี้ คือ

1.ค่าชดเชย กรณีเลิกจ้าง สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าไร ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน (มาตรา 118)

2.ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ

3.ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างปรับปรุงหน่วยงานโดยนำเครื่องจักรมาแทนกำลังคน

4.สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (กรณีนายจ้างไม่แจ้งกำหนดให้ทราบล่วงหน้า)

5.ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ขอเตือน!! ลูกจ้าง สำหรับการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายจ้าง ขอให้ศึกษาข้อมูลกฎหมายและปรึกษานักกฎหมายที่มีคุณธรรมก่อนที่จะทำสัญญา เพราะหากผิดพลาดจะทำให้เสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2557

เรื่องมีอยู่ว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง ต่อมานายจ้างและลูกจ้างได้มาตกลงทำบันทึกข้อตกลงกันโดยเจรจากันเรื่องค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยลูกจ้างสมัครใจตกลงตามบันทึกโดยมีเงื่อนไขว่า “หากนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว ลูกจ้างตกลงว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่น ๆ เช่น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมจากนายจ้างอีกต่อไป” แต่ต่อมาปรากฏว่าลูกจ้างได้ยื่นฟ้องนายจ้างเรียกเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุดและค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดที่มีอยู่ก่อนเลิกจ้าง

จำเลยต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินดังกล่าวอีกเพราะได้ทำบันทึกข้อตกลงกันแล้วว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นๆ อีก ศาลแรงงานฯ ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ก็อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ว่าข้อตกลงตามบันทึกที่ทำเป็นโมฆะเพราะเงินดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งนายจ้างลูกจ้างจะทำหรือตกลงจ้างแรงงานอันเป็นการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติหรือตัดสิทธิหรือระงับสิทธิเกี่ยวกับการเรียกร้องตามสิทธิดังกล่าวหาได้ไม่ หากมีการตกกันเช่นว่านั้นถือว่าเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้

แต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าว เพราะมีการทำสัญญาประนีประนอมกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งสัญญาประนีประนอมดังกล่าวก็ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลย่อของคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2557 ขณะโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความแม้เริ่มต้นการเจรจาเป็นเรื่องค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแต่โจทก์ก็ยังสมัครใจตกลงกับจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่า “หากนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว ลูกจ้างตกลงว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่น ๆ เช่น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็น

ธรรมจากนายจ้างอีกต่อไป” ซึ่งเงินอื่น ๆ ที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ย่อมหมายถึงเงินทุกประเภทรวมทั้งค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุดและค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดตามฟ้องที่ได้มีอยู่และโจทก์อาจมีสิทธิได้รับจากจำเลยอันเป็นการตกลงระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในอนาคต จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดตามฟ้องของโจทก์ด้วย

แม้สิทธิเรียกร้องเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุดและค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดตามฟ้องเป็นสิทธิเรียกร้องที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงินดังกล่าว และบังคับข้อตกลงเกิดขึ้นหลังจากโจทก์ออกจากงานพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอิสระแก่ตนพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องในเงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์จึงมีผลใช้บังคับ เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามบันทึกข้อตกลงครบถ้วนแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับเงินใด ๆ รวมทั้งค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดตามฟ้อง ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852

เรื่องนี้จึงสรุปว่า...ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายจ้าง ควรศึกษาผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของตนเองให้ถี่ถ้วนก่อน จะได้ไม่เสียประโยชน์อันควรได้รับ (^_^)
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> สามีลักทรัพย์ภริยา หรือ ภริยาลักทรัพย์สามี ไม่ติดคุก !!! จริงหรือ??
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 12:25PM
 
สามีลักทรัพย์ภริยา หรือ ภริยาลักทรัพย์สามี ไม่ติดคุก !!! จริงหรือ??

ตอบเลยว่าจริงค่ะ (^_^)

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์, วิ่งราวทรัพย์, ฉ้อโกง, ยักยอก, ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุกก็แล้วแต่ ถ้าหากเป็นการกระทำที่สามีกระทำต่อภริยา หรือภริยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71 วรรคหนึ่ง)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความเป็นสามีภริยากันนั้นหมายถึงเฉพาะสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากเพียงแค่อยู่กันฉันท์สามีภรรยา ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อกฎหมายนี้นะจ๊ะ

ความผิดที่ไม่ต้องรับโทษจะเห็นว่ากฎหมายกำหนดไว้เฉพาะความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เท่านั้น หากเป็นการกระทำความผิดอื่น เช่น ทำร้ายร่างกาย ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษให้ ฉะนั้น ทำร้ายร่างกายสามีหรือภริยาของตนย่อมมีความผิดและติดคุกได้นะจ๊ะ

-

ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ดูหมิ่นซึ่งหน้า กับ หมิ่นประมาท ต่างกันอย่างไร
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 12:24PM
 
ดูหมิ่นซึ่งหน้า กับ หมิ่นประมาท ต่างกันอย่างไร
-
ดูหมิ่นซึ่งหน้า คืออะไร

ดูหมิ่น คือ การดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น, การสบประมาท, การด่าทอ ซึ่งจะกระทำด้วยวาจา กริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ เช่น ชูนิ้วกลางให้, ยกเท้าให้

คำด่าหรือคำหยาบคายที่เข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้อื่น เช่น ด่าว่า "อีหน้าหมา" "ดอกทอง" "ไอ้สัตว์" "อีตอแหล" "ไอ้เหี้ย" เป็นต้น

ซึ่งหน้า คือ ต่อหน้าหรือไม่ต่อหน้าก็ได้แต่ผู้ถูกดูหมิ่นอยู่ตรงนั้นหรือในระยะที่ได้ยินได้หรือรับรู้ในขณะนั้นได้ทันที แต่หากอยู่กันคนละที่ซึ่งห่างไกลหรือเป็นการด่ากันทางโทรศัพท์ ไม่ถือว่าเป็นซึ่งหน้า

ฎ.3711/2557 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า

ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ คือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
-

หมิ่นประมาท คืออะไร

หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นหรือกล่าวให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

ซึ่งการพูดใส่ความผู้อื่นอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นจะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

คำพูดในลักษณะใส่ความ คือ คำกล่าวที่มีลักณณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เช่น ด่าว่า "มึงมันเป็นกะหรี่" "แม่มึงเป็นโสเพณี" "มึงค้ายาบ้า" "มึงติดยา" "เป็นชู้กับผัวชาวบ้าน" "โกงเงินและทุจริตต่อหน้าที่" เป็นต้น

ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาท กฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

และหากการหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท
-

หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นอย่างไร

การโฆษณา คือ การกระทําไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ หรือเผยแพร่ข้อความออกไปยังสาธารณชน

ลักษณะการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ก็คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามด้วยวิธีการใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้การใส่ความเช่นนั้นแพร่หลายไปยังบุคคลภายนอกในลักษณะวงกว้าง

ฎ.4998/2558 การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ฎ.10839/2557 การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

ฎ.7788/2552 การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งหนังสือถึง อ. และบุคคลอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของที่ดินในโครงการบ้านสวนริมทะเลของจำเลยเท่านั้น มีลักษณะเป็นเพียงการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 328
-

ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> การกู้ยืมเงินทาง Facebook, Line, Instagram, Messenger จะฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 12:19PM
 
การกู้ยืมเงินทาง Facebook, Line, Instagram, Messenger จะฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อออนไลน์ประเภทอื่นๆ เช่น Facebook, Line, Instagram, Messenger, Email เป็นต้น สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมได้แม้สัญญากู้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4, มาตรา 7 , มาตรา 8

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า"การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" ซึ่งหมายความว่า หากมีการกู้ยืมเงินไม่เกิน 2,000 บาท ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการกู้ยืมก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ แต่หากมีการกู้ยืมเงินกันเกิน 2,000 บาท จะต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

ในประเด็นปัญหาที่ว่าหากหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อออนไลน์ประเภทอื่นๆ เช่น Facebook, Line, Instagram, Messenger, Email เป็นต้น ซึ่งปรากฎเพียงข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการกู้ยืมเงินกันแต่ไม่ได้ปรากฎลายมือชื่อของผู้ยืม กรณีเช่นนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้หรือไม่

หากพิจารณาจากหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 ซึ่งได้ให้คำนิยามของคำว่า "ธุรกรรม" ไว้ว่าหมายความถึง การกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ หรือในการดำเนินงานของรัฐตามที่กำหนดในหมวด 4 ส่วนคำว่า "อิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน และให้หมายความรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีต่าง ๆ เช่นว่านั้น และคำว่า "ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

จากความหมายดังกล่าวจึงทำให้ได้ความว่าการกู้ยืมเงินกันทางสื่อออนไลน์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และข้อความที่สื่อสารถึงกันก็เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพราะคำว่า "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ " หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร ส่วน “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น

เมื่อฟังได้ว่าการกู้ยืมเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และข้อความที่สื่อสารถึงกันเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 กำหนดว่า "ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" ก็หมายความว่าการกู้ยืมเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จึงมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องหลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ยืมเงิน มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 กำหนดว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว”

ในส่วนของลายมือชื่อของผู้กู้นั้น เมื่อผู้กู้ใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการสื่อสาร ย่อมต้องมีการลงชื่อเข้าใช้งานสื่อแต่ละประเภทนั้นๆ ซึ่งการลงชื่อเข้าใช้งานดังกล่าวถือเป็น “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” ตามความหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 แล้ว ทั้งนี้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ (2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยคํานึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี ซึ่งวิธีการที่เชื่อถือได้ตาม (2) ให้คํานึงถึง ก) ความมั่นคงและรัดกุมของการใช้วิธีการหรืออุปกรณ์ในการระบุตัวบุคคล สภาพพร้อมใช้งาน
ของทางเลือกในการระบุตัวบุคคล กฎเกณฑ์เกี่ยวกับลายมือชื่อที่กําหนดไว้ในกฎหมายระดับความมั่นคงปลอดภัยของการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์การปฏิบัติตามกระบวนการในการระบุตัวบุคคลผู้เป็นสื่อกลาง ระดับของการยอมรับหรือไม่ยอมรับ วิธีการที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลในการทําธุรกรรม วิธีการระบุตัวบุคคล ณ ช่วงเวลาที่มีการทําธุรกรรมและติดต่อสื่อสาร ข) ลักษณะ ประเภท หรือขนาดของธุรกรรมที่ทํา จํานวนครั้งหรือความสม่ําเสมอในการทําธุรกรรม ประเพณีทางการค้าหรือทางปฏิบัติความสําคัญ มูลค่าของธุรกรรมที่ทํา หรือ ค) ความรัดกุมของระบบการติดต่อสื่อสาร"

ดังนั้นบทสรุปของการกู้ยืมเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อออนไลน์ประเภทอื่น เป็นหลักฐานแห่งการฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

-
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เทียบเคียงกับกรณีนี้ได้ คือ ฎ.8089/2556
-
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556

โจทก์ : บริษัทจีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด
จำเลย : นายนพดล มโนรถพานิช
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ม. 7, 8, 9
-
ข้อมูลย่อ

การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
-
รายละเอียด

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 318,933.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 249,337.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 261,024.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.82 ต่อปี ของต้นเงิน 249,337.76 บาท นับถัดจากวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การเบิกเงินสดจากเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยเป็นการกู้ยืมที่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมอันจะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยนำบัตรกดเงินสดดังกล่าวไปใช้เบิกถอนเงินสดรวม 8 ครั้ง ซึ่งการถอนเงินสดดังกล่าวจำเลยจะต้องทำตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือการใช้บริการ ต้องใส่รหัสผ่าน 4 หลัก เลือกรายการถอนเงินจากบัญชีสินเชื่อเงินสด เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระ 6 ถึง 36 เดือน ระบุจำนวนเงินที่ต้องการ (5,000 ถึง 20,000 บาท ต่อรายการ) และรับเงินสดพร้อมสลิปไว้เป็นหลักฐานซึ่งในสลิปจะปรากฏอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในแต่ละครั้งอยู่ด้วย แสดงว่า จำเลยสมัครใจกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด กรณีดังกล่าวถือเป็นธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 มีผลใช้บังคับตามมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว และมาตรา 9 บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน... เมื่อโจทก์มีมาแสดงประกอบใบคู่มือการใช้บริการ อันเป็นหลักฐานที่รับฟังได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและส่งรหัสส่วนตัวเสมือนลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ประกอบทั้งจำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ รวม 11 รายการ โจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อท้ายเอกสารมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดเพียงใด เห็นว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ค่าปรับ และค่าธรรมเนียมอื่นใดตามสัญญาจากจำเลยอีก โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น แม้โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ที่ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) แต่ก่อนสัญญาเลิกกัน โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 13.82 ต่อปี เท่านั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินค้างชำระจำนวน 244,337.76 บาท ได้ในอัตราร้อยละ 13.82 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
-
(เฉลิมชัย ตันตยานนท์-พิศล พิรุณ-พิสิฐ ฐิติภัค) : องค์คณะผู้ตัดสิน
-
ความรู้กฎหมายโดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()