รูปภาพของadmin advanced law
"ลูกจ้าง" ควรรู้เทคนิคทางกฎหมาย เพื่อไม่ตกหลุมพรางของ "นายจ้าง"
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 12:27PM
 
เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้อ่านข่าวเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงาน อ่านรายละเอียดแล้วรู้สึกเศร้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า "ผู้รู้เงื่อนแง่ของกฎหมาย ใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อเอาเปรียบผู้ไม่รู้กฎหมาย" ซึ่งเป็นการเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด

เรื่องราวมันมีอยู่ว่า บริษัท(นายจ้าง) ต้องการเลิกจ้างพนักงาน(ลูกจ้าง) แต่เนื่องจากหากนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเป็นเงินจำนวนไม่น้อย ด้วยความที่นายจ้างรู้กฎหมายคุ้มครองแรงงานว่า "การเลิกจ้าง" ตามกฎหมายซึ่งจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างนั้น ไม่รวมกรณีที่ "ลูกจ้างลาออก" เอง ดังนั้น นายจ้างจึงเชิญลูกจ้างมาพูดคุย เสนอให้ลูกจ้างทำ "หนังสือขอลาออก" แล้วจะให้เงินจำนวนหนึ่งตอบแทน (ซึ่งย่อมน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดแน่นอน) ดีนะ!! ที่ลูกจ้าง รู้ทัน จึงไม่ยอมทำหนังสือลาออกแต่อย่างใด เห็นอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้คิดต่อไปว่า "เทคนิคเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ นายจ้างได้มาจากที่ใด"

ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักกฎหมาย ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย และเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายวิชากฎหมาย ไม่อยากจะคิดเลยว่าเทคนิคพวกนี้นายจ้างได้มาจากนักกฎหมาย เพราะมันสะท้อนให้เห็นถึงจิตใจอันไร้ซึ่งคุณธรรมและความยุติธรรมที่นักกฎหมายที่ดีพึงมี และพึงตระหนักเป็นที่สุดว่ากฎหมายมีไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างความสงบสุขแก่บ้านเมืองและอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดแก่ประชาชนผู้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย นักกฎหมายที่ดีควรใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อสร้างความยุติธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ช่วยเหลือผู้เดือดร้อน อย่าเห็นแก่เงินของพวกนายทุนกันเลย เพราะทุกวันนี้สังคมก็อยู่ยากขึ้นทุกวัน (มีแต่คนจ้องเอารัดเอาเปรียบกัน หาแต่ผลประโยชน์เข้าตัวเอง ขาดศีลธรรมในจิตใจ)

ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ที่จะนำเสนอในวันนี้ อยากจะให้ทราบว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน มีลักษณะที่สำคัญ 2 ประการ คือ

1.เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการให้ความคุ้มครองลูกจ้างซึ่งลูกจ้างพึงได้รับการปฏิบัติ

2.เป็นกฎหมายที่เคร่งครัด เนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนั้นคู่สัญญาจึงไม่อาจตกลงยกเว้นไปในทางที่ทำให้ลูกจ้างเสียประโยชน์ได้ (หากฝ่าฝืนสัญญาเป็นโมฆะตาม มาตรา 151)

สัญญาที่นายจ้างทำกับลูกจ้าง หากเป็นการแตกต่างไปจากที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด สัญญานั้นย่อมเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ เช่น ทำสัญญาตกลงให้ลูกจ้างได้รับเงินชดเชยจากการเลิกจ้างน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือสัญญาที่ตกลงว่าหากลูกจ้างลาออกก่อนภายใน 24 เดือน ขอสละสิทธิในการรับเงินประกันคืน เป็นต้น

นอกจากนี้อยากจะให้ทราบว่า กรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง(โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่มีเหตุอันสมควร) ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินอะไรบ้าง คำตอบคือ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินดังต่อไปนี้ คือ

1.ค่าชดเชย กรณีเลิกจ้าง สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไป ส่วนจะได้รับในอัตราเท่าไร ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน (มาตรา 118)

2.ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการ

3.ค่าชดเชยพิเศษ กรณีนายจ้างปรับปรุงหน่วยงานโดยนำเครื่องจักรมาแทนกำลังคน

4.สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (กรณีนายจ้างไม่แจ้งกำหนดให้ทราบล่วงหน้า)

5.ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

ขอเตือน!! ลูกจ้าง สำหรับการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายจ้าง ขอให้ศึกษาข้อมูลกฎหมายและปรึกษานักกฎหมายที่มีคุณธรรมก่อนที่จะทำสัญญา เพราะหากผิดพลาดจะทำให้เสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ยกตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2557

เรื่องมีอยู่ว่านายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้าง ต่อมานายจ้างและลูกจ้างได้มาตกลงทำบันทึกข้อตกลงกันโดยเจรจากันเรื่องค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยลูกจ้างสมัครใจตกลงตามบันทึกโดยมีเงื่อนไขว่า “หากนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว ลูกจ้างตกลงว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่น ๆ เช่น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมจากนายจ้างอีกต่อไป” แต่ต่อมาปรากฏว่าลูกจ้างได้ยื่นฟ้องนายจ้างเรียกเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุดและค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดที่มีอยู่ก่อนเลิกจ้าง

จำเลยต่อสู้คดีว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินดังกล่าวอีกเพราะได้ทำบันทึกข้อตกลงกันแล้วว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นๆ อีก ศาลแรงงานฯ ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ก็อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ว่าข้อตกลงตามบันทึกที่ทำเป็นโมฆะเพราะเงินดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องตามที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งนายจ้างลูกจ้างจะทำหรือตกลงจ้างแรงงานอันเป็นการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติหรือตัดสิทธิหรือระงับสิทธิเกี่ยวกับการเรียกร้องตามสิทธิดังกล่าวหาได้ไม่ หากมีการตกกันเช่นว่านั้นถือว่าเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้

แต่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าว เพราะมีการทำสัญญาประนีประนอมกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อีกทั้งสัญญาประนีประนอมดังกล่าวก็ไม่เป็นโมฆะแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลย่อของคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ คือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1977/2557 ขณะโจทก์ทำบันทึกข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความแม้เริ่มต้นการเจรจาเป็นเรื่องค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแต่โจทก์ก็ยังสมัครใจตกลงกับจำเลยโดยมีเงื่อนไขว่า “หากนายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าครบถ้วนแล้ว ลูกจ้างตกลงว่าจะไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่น ๆ เช่น ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างอันไม่เป็น

ธรรมจากนายจ้างอีกต่อไป” ซึ่งเงินอื่น ๆ ที่โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องอีกต่อไป ย่อมหมายถึงเงินทุกประเภทรวมทั้งค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุดและค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดตามฟ้องที่ได้มีอยู่และโจทก์อาจมีสิทธิได้รับจากจำเลยอันเป็นการตกลงระงับข้อพิพาทที่จะมีขึ้นในอนาคต จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดตามฟ้องของโจทก์ด้วย

แม้สิทธิเรียกร้องเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุดและค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดตามฟ้องเป็นสิทธิเรียกร้องที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับเงินดังกล่าว และบังคับข้อตกลงเกิดขึ้นหลังจากโจทก์ออกจากงานพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปแล้ว โจทก์ย่อมมีอิสระแก่ตนพ้นพันธกรณีและอำนาจบังคับบัญชาของจำเลยโดยสิ้นเชิง การสละสิทธิเรียกร้องในเงินดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและไม่เป็นโมฆะ สัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับเงินดังกล่าวตามฟ้องของโจทก์จึงมีผลใช้บังคับ เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามบันทึกข้อตกลงครบถ้วนแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกี่ยวกับเงินใด ๆ รวมทั้งค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าทำงานในวันหยุด และค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติในวันหยุดตามฟ้อง ย่อมเป็นอันระงับสิ้นไปโดยผลของสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852

เรื่องนี้จึงสรุปว่า...ก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับนายจ้าง ควรศึกษาผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของตนเองให้ถี่ถ้วนก่อน จะได้ไม่เสียประโยชน์อันควรได้รับ (^_^)
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์