รูปภาพของadmin advanced law
ดูหมิ่นซึ่งหน้า กับ หมิ่นประมาท ต่างกันอย่างไร
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 12:24PM
 
ดูหมิ่นซึ่งหน้า กับ หมิ่นประมาท ต่างกันอย่างไร
-
ดูหมิ่นซึ่งหน้า คืออะไร

ดูหมิ่น คือ การดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น, การสบประมาท, การด่าทอ ซึ่งจะกระทำด้วยวาจา กริยาท่าทาง หรือลายลักษณ์อักษรก็ได้ เช่น ชูนิ้วกลางให้, ยกเท้าให้

คำด่าหรือคำหยาบคายที่เข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้อื่น เช่น ด่าว่า "อีหน้าหมา" "ดอกทอง" "ไอ้สัตว์" "อีตอแหล" "ไอ้เหี้ย" เป็นต้น

ซึ่งหน้า คือ ต่อหน้าหรือไม่ต่อหน้าก็ได้แต่ผู้ถูกดูหมิ่นอยู่ตรงนั้นหรือในระยะที่ได้ยินได้หรือรับรู้ในขณะนั้นได้ทันที แต่หากอยู่กันคนละที่ซึ่งห่างไกลหรือเป็นการด่ากันทางโทรศัพท์ ไม่ถือว่าเป็นซึ่งหน้า

ฎ.3711/2557 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า

ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า เป็นความผิดลหุโทษ ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ คือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
-

หมิ่นประมาท คืออะไร

หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นหรือกล่าวให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

ซึ่งการพูดใส่ความผู้อื่นอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นจะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

คำพูดในลักษณะใส่ความ คือ คำกล่าวที่มีลักณณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย เช่น ด่าว่า "มึงมันเป็นกะหรี่" "แม่มึงเป็นโสเพณี" "มึงค้ายาบ้า" "มึงติดยา" "เป็นชู้กับผัวชาวบ้าน" "โกงเงินและทุจริตต่อหน้าที่" เป็นต้น

ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาท กฎหมายกำหนดอัตราโทษไว้ คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

และหากการหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท
-

หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นอย่างไร

การโฆษณา คือ การกระทําไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็นหรือทราบข้อความ หรือเผยแพร่ข้อความออกไปยังสาธารณชน

ลักษณะการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ก็คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามด้วยวิธีการใดๆ ก็แล้วแต่ที่ทำให้การใส่ความเช่นนั้นแพร่หลายไปยังบุคคลภายนอกในลักษณะวงกว้าง

ฎ.4998/2558 การนำหนังสือพิมพ์ไปแจกโดยทราบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ถือได้ว่าเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปแล้ว จึงเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

ฎ.10839/2557 การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

ฎ.7788/2552 การหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งหนังสือถึง อ. และบุคคลอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของที่ดินในโครงการบ้านสวนริมทะเลของจำเลยเท่านั้น มีลักษณะเป็นเพียงการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในโครงการดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป จึงไม่มีความผิดตามมาตรา 328
-

ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์