รูปภาพของadmin advanced law
การกู้ยืมเงินทาง Facebook, Line, Instagram, Messenger จะฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 12:19PM
 
การกู้ยืมเงินทาง Facebook, Line, Instagram, Messenger จะฟ้องร้องบังคับคดีได้หรือไม่

หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อออนไลน์ประเภทอื่นๆ เช่น Facebook, Line, Instagram, Messenger, Email เป็นต้น สามารถใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมได้แม้สัญญากู้ไม่ได้ทำเป็นหนังสือก็ตาม

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4, มาตรา 7 , มาตรา 8

หลักกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ว่า"การกู้ยืมเงินกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่" ซึ่งหมายความว่า หากมีการกู้ยืมเงินไม่เกิน 2,000 บาท ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานการกู้ยืมก็ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ แต่หากมีการกู้ยืมเงินกันเกิน 2,000 บาท จะต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินลงลายมือชื่อผู้ยืมจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

ในประเด็นปัญหาที่ว่าหากหลักฐานการกู้ยืมเงินนั้นอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อออนไลน์ประเภทอื่นๆ เช่น Facebook, Line, Instagram, Messenger, Email เป็นต้น ซึ่งปรากฎเพียงข้อความที่แสดงให้เห็นถึงการกู้ยืมเงินกันแต่ไม่ได้ปรากฎลายมือชื่อของผู้ยืม กรณีเช่นนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้หรือไม่

หากพิจารณาจากหลักกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 ซึ่งได้ให้คำนิยามของคำว่า "ธุรกรรม" ไว้ว่าหมายความถึง การกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ หรือในการดำเนินงานของรัฐตามที่กำหนดในหมวด 4 ส่วนคำว่า "อิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า การประยุกต์ใช้วิธีการทางอิเล็กตรอน ไฟฟ้า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือวิธีอื่นใดในลักษณะคล้ายกัน และให้หมายความรวมถึงการประยุกต์ใช้วิธีการทางแสง วิธีการทางแม่เหล็ก หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้วิธีต่าง ๆ เช่นว่านั้น และคำว่า "ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า ธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

จากความหมายดังกล่าวจึงทำให้ได้ความว่าการกู้ยืมเงินกันทางสื่อออนไลน์หรือทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และข้อความที่สื่อสารถึงกันก็เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพราะคำว่า "ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ " หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร ส่วน “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น และเพื่อแสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น

เมื่อฟังได้ว่าการกู้ยืมเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และข้อความที่สื่อสารถึงกันเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 กำหนดว่า "ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์" ก็หมายความว่าการกู้ยืมเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จึงมีผลผูกพันและบังคับได้ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ในประเด็นเรื่องหลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ยืมเงิน มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 กำหนดว่า "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว”

ในส่วนของลายมือชื่อของผู้กู้นั้น เมื่อผู้กู้ใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ในการสื่อสาร ย่อมต้องมีการลงชื่อเข้าใช้งานสื่อแต่ละประเภทนั้นๆ ซึ่งการลงชื่อเข้าใช้งานดังกล่าวถือเป็น “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” ตามความหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 แล้ว ทั้งนี้ มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า "ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ (2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์โดยคํานึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี ซึ่งวิธีการที่เชื่อถือได้ตาม (2) ให้คํานึงถึง ก) ความมั่นคงและรัดกุมของการใช้วิธีการหรืออุปกรณ์ในการระบุตัวบุคคล สภาพพร้อมใช้งาน
ของทางเลือกในการระบุตัวบุคคล กฎเกณฑ์เกี่ยวกับลายมือชื่อที่กําหนดไว้ในกฎหมายระดับความมั่นคงปลอดภัยของการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์การปฏิบัติตามกระบวนการในการระบุตัวบุคคลผู้เป็นสื่อกลาง ระดับของการยอมรับหรือไม่ยอมรับ วิธีการที่ใช้ในการระบุตัวบุคคลในการทําธุรกรรม วิธีการระบุตัวบุคคล ณ ช่วงเวลาที่มีการทําธุรกรรมและติดต่อสื่อสาร ข) ลักษณะ ประเภท หรือขนาดของธุรกรรมที่ทํา จํานวนครั้งหรือความสม่ําเสมอในการทําธุรกรรม ประเพณีทางการค้าหรือทางปฏิบัติความสําคัญ มูลค่าของธุรกรรมที่ทํา หรือ ค) ความรัดกุมของระบบการติดต่อสื่อสาร"

ดังนั้นบทสรุปของการกู้ยืมเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อออนไลน์ประเภทอื่น เป็นหลักฐานแห่งการฟ้องร้องบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544

-
แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เทียบเคียงกับกรณีนี้ได้ คือ ฎ.8089/2556
-
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8089/2556

โจทก์ : บริษัทจีอี แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด
จำเลย : นายนพดล มโนรถพานิช
-
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 653
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ม. 7, 8, 9
-
ข้อมูลย่อ

การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและใส่รหัสส่วนตัวเปรียบได้กับการลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการเบิกถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7,8 และมาตรา 9 ประกอบกับคดีนี้จำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมอีกโสดหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
-
รายละเอียด

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 318,933.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 249,337.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 261,024.12 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.82 ต่อปี ของต้นเงิน 249,337.76 บาท นับถัดจากวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การเบิกเงินสดจากเครื่องเบิกถอนเงินอัตโนมัติของจำเลยเป็นการกู้ยืมที่ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมอันจะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยนำบัตรกดเงินสดดังกล่าวไปใช้เบิกถอนเงินสดรวม 8 ครั้ง ซึ่งการถอนเงินสดดังกล่าวจำเลยจะต้องทำตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือการใช้บริการ ต้องใส่รหัสผ่าน 4 หลัก เลือกรายการถอนเงินจากบัญชีสินเชื่อเงินสด เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระ 6 ถึง 36 เดือน ระบุจำนวนเงินที่ต้องการ (5,000 ถึง 20,000 บาท ต่อรายการ) และรับเงินสดพร้อมสลิปไว้เป็นหลักฐานซึ่งในสลิปจะปรากฏอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินในแต่ละครั้งอยู่ด้วย แสดงว่า จำเลยสมัครใจกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามเงื่อนไขที่โจทก์กำหนด กรณีดังกล่าวถือเป็นธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 4 มีผลใช้บังคับตามมาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับมาตรา 8 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว และมาตรา 9 บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน... เมื่อโจทก์มีมาแสดงประกอบใบคู่มือการใช้บริการ อันเป็นหลักฐานที่รับฟังได้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 การที่จำเลยนำบัตรกดเงินสดควิกแคชไปถอนเงินและส่งรหัสส่วนตัวเสมือนลงลายมือชื่อตนเอง ทำรายการถอนเงินตามที่จำเลยประสงค์ และกดยืนยันทำรายการพร้อมรับเงินสดและสลิป การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินจากโจทก์ ประกอบทั้งจำเลยมีการขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้สินเชื่อเงินสดควิกแคชที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ รวม 11 รายการ โจทก์มีเอกสารซึ่งมีข้อความชัดว่าจำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์ขอขยายเวลาชำระหนี้ โดยจำเลยลงลายมือชื่อท้ายเอกสารมาแสดง จึงรับฟังเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปมีว่า จำเลยต้องรับผิดเพียงใด เห็นว่า เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน ค่าปรับ และค่าธรรมเนียมอื่นใดตามสัญญาจากจำเลยอีก โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดกึ่งต่อปี แต่ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น แม้โจทก์ฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ที่ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ (ร้อยละ 15 ต่อปี) แต่ก่อนสัญญาเลิกกัน โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 13.82 ต่อปี เท่านั้นโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินค้างชำระจำนวน 244,337.76 บาท ได้ในอัตราร้อยละ 13.82 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
-
(เฉลิมชัย ตันตยานนท์-พิศล พิรุณ-พิสิฐ ฐิติภัค) : องค์คณะผู้ตัดสิน
-
ความรู้กฎหมายโดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์