admin advanced law

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()
รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> "เสียง" สามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ได้แล้วจ้า!!
โดย admin advanced law - ศุกร์, 14 ธันวาคม 2018, 01:17PM
 
"เสียง" สามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ได้แล้วจ้า!!
-
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายใหม่ โดยเพิ่ม "เสียง"
ให้เป็น "เครื่องหมาย" ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงสามารถนำเสียง มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้

เสียง (sound mark) คือ เสียงที่สามารถบ่งเฉพาะให้นึกถึงสินค้าได้ เช่น เสียงดนตรีของรถขายไอศกรีมวอลล์ ทำให้ผู้บริโภคนึกถึงไอศกรีมดังกล่าวไม่ใช่ไอศกรีมอื่น

เสียงเป็นเครื่องหมายที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา แต่ใช้เสียงเป็นสื่อในการสังเกตจดจำและแยกความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าเสียงของบุคคลอื่นรวมทั้งแตกต่างจากเครื่องหมายคำและรูปในแบบดั้งเดิม ซึ่งนิยมใช้ในธุรกิจทางด้านการโฆษณา รายการทางโทรทัศน์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจการค้าต่าง ๆ การจำหน่ายสินค้าไอศกรีม เป็นต้น


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ถาม-ตอบ ข้อข้องใจกฎหมายลิขสิทธิ์
โดย admin advanced law - ศุกร์, 14 ธันวาคม 2018, 01:15PM
 
กรมทรัพย์สินทางปัญญาไขข้อข้องใจกฎหมายลิขสิทธิ์ เปิดคำถาม คำตอบ 10 ข้อ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ หวังสกัดความปั่นป่วนในโลกโซเชียล หลังทั้งโพสต์ ทั้งแชร์กระหน่ำ “มาลี” เผยเป็นโอกาสดีที่ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจในเรื่องลิขสิทธิ์

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำคำถาม คำตอบ จำนวน 10 ข้อ เพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ หลังจากเกิดความไม่เข้าใจในสังคมขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทำแบบนั้น ทำแบบนี้ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย เป็นต้น กรมฯ จึงต้องออกมาชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และป้องกันความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก

โดย 10 คำถาม คำตอบ มีรายละเอียดดังนี้

1. ลิขสิทธิ์คุ้มครองอะไรบ้าง มีอะไรที่เราสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือไม่

ตอบ ลิขสิทธิ์คุ้มครองงานสร้างสรรค์ เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละคร เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งข่าวประจำวันทั่วไปในส่วนของข้อเท็จจริงที่รายงานเพียงแค่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่เข้าข่ายงานอันมีลิขสิทธิ์ เราจึงสามารถเอามาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต

2. เราสามารถดาวน์โหลดภาพยนตร์หรือเพลงจากอินเทอร์เน็ตมาฟังและแชร์ต่อให้เพื่อนได้ไหม

ตอบ การดาวน์โหลดถือเป็นการทำซ้ำที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ กรณีเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ก็สามารถดาวน์โหลดได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้ ส่วนกรณีเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยเก็บค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด เมื่อผู้ใช้เสียค่าบริการแล้วจึงจะดาวน์โหลดมาเพื่อรับชมหรือรับฟังได้ แต่ไม่สามารถแชร์ต่อได้เช่นกัน

3. การก๊อบปี้บทความหรือรูปภาพจากเว็บไซต์มาใส่เฟซบุ๊กของเราหรือแชร์ต่อทางไลน์ ทำได้หรือไม่

ตอบ บทความหรือรูปภาพเป็นงานลิขสิทธิ์ การนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการก๊อบปี้หรือแชร์ต่อ ควรพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขการอนุญาตให้ใช้เนื้อหาของเว็บไซต์นั้นๆ ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ถ้านำมาใช้ในปริมาณน้อย เช่น 1 ถึง 2 ภาพที่ไม่ได้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) อย่างมีนัยสำคัญ และไม่ได้เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไรโดยมีการแสดงที่มาของบทความหรือรูปภาพ ก็อาจถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (fair use) ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

4. การนำงานมาใช้และเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตผู้สร้างสรรค์เพียงพอหรือไม่ที่จะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ตอบ การนำงานมาใช้และเผยแพร่ ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ จึงจะไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ และต้องเป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมทั้งต้องไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควรด้วย

5. การแฮกหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์ เช่น รูปภาพหรือคลิปวิดีโอบนอินเทอร์เน็ต และลบลายน้ำดิจิตอลออก และปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเรา มีความผิดอย่างไร และมีโทษเท่าใด

ตอบ การแฮกหรือหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงงานลิขสิทธิ์โดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวอาจจูงใจหรือก่อให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี และหากทำการลบลายน้ำดิจิตอลออกโดยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำนั้นอาจจูงใจให้เกิด ก่อให้เกิด ให้ความสะดวก หรือปกปิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ ส่วนการปรับแต่งรูปภาพหรือคลิปวิดีโอของผู้อื่นและโพสต์ไว้บนเว็บไซต์ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยการดัดแปลงและเผยแพร่งานลิขสิทธิ์นั้นต่อสาธารณชน

โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท เพื่อการค้า 100,000 ถึง 800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

โทษฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยี ปรับ 10,000 บาทถึง 100,000 บาท เพื่อการค้า ปรับ 50,000 บาท ถึง 400,000 บาท หรือจำคุก 3 เดือน ถึง 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. การก๊อบปี้ภาพหรือบทความจากอินเทอร์เน็ตมาใช้ในลักษณะอย่างไรจึงจะต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ และอย่างไรจึงไม่ต้องขออนุญาต

ตอบ กรณีที่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น การนำภาพหรือบทความนั้นไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น กรณีที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการใช้ในปริมาณพอสมควร เช่น นำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท ใช้ในการติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น

7. การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทิวบ์มาไว้ที่บล็อกของเรา ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ตอบ การทำบล็อกแล้ว embed โพสต์ของยูทิวบ์มาไว้ที่บล็อกของเราถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำงานลิขสิทธิ์ในบล็อกและถือเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วย ซึ่งสิทธิในการทำซ้ำและสิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์

ในกรณีของการแชร์ลิงก์ (link) เพื่อแนะนำและบอกที่มาของเว็บไซต์ ก็อาจไม่เข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์

8. หากซื้อซีดีเพลง หนังสือ หรือรูปภาพมาอย่างถูกต้อง เมื่อใช้แล้วจะนำออกขายต่อได้หรือไม่ กรณีซื้อโดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ ภาพยนตร์ เพลงจากเว็บไซต์ จะขายต่อได้หรือไม่

ตอบ การซื้อซีดีเพลงหรือรูปภาพ ผู้ซื้อได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในแผ่นซีดีหรือรูปภาพนั้น จึงสามารถนำออกขายต่อได้ แต่ผู้ซื้อไม่สามารถทำสำเนางานเพื่อนำออกขายได้ เนื่องจากสิทธิในการทำซ้ำและการนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ สำหรับกรณีการซื้อมาโดยวิธีการดาวน์โหลดนั้น เป็นการที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตให้ใช้สิทธิ (License) ดังนั้น ไม่สามารถนำไฟล์งานดังกล่าวออกขายต่อได้

9. ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) เช่น YouTube Google True DTAC จะมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยหรือไม่ หากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตอัปโหลดหนังหรือเพลงละเมิดลิขสิทธิ์

ตอบ ผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (ISPs) ไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์หากให้ความร่วมมือกับเจ้าของลิขสิทธิ์ในการนำงานละเมิดออกจากเว็บไซต์ตามคำสั่งศาล

10. จะทำอย่างไรเมื่อมีคนนำงานลิขสิทธิ์ของเราไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ตอบ เมื่อพบว่ามีการละเมิดเกิดขึ้น เจ้าของลิขสิทธิ์อาจแจ้งเตือนให้ผู้กระทำละเมิดหยุดการกระทำดังกล่าว หรือเจ้าของลิขสิทธิ์อาจไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล หรืออาจขอให้มีการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยใช้บริการไกล่เกลี่ยของกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือศาล

นางมาลีกล่าวสรุปว่า จากกรณีข้อสงสัยที่เกิดขึ้น ถือเป็นข้อดีที่ทำให้คนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ มีจิตสำนึกว่างานที่จะนำไปใช้มีเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ และมีการคิดก่อนแชร์ คิดก่อนใช้ ซึ่งกรมฯ ขอแนะนำว่าถ้าไม่ชัวร์ ไม่แชร์จะดีกว่า
-
source:http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9580000087816

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> รถจักรยานยนต์ชนกัน ฝ่ายใดผิดหรือผิดด้วยกันทั้งคู่ ?
โดย admin advanced law - ศุกร์, 14 ธันวาคม 2018, 01:14PM
 
-การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์อยู่ในช่องเดินรถของตน แม้จะไม่ได้ขับชิดขอบทางด้านซ้ายก็ตาม เมื่อถูกรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนทางมาเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิด หรือจะผิดด้วยกันทั้งคู่ ???

ตอบ ฝ่ายที่ขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนทางมาเป็นฝ่ายผิดเพียงฝ่ายเดียว ผู้ตายไม่มีส่วนประมาทด้วยแต่อย่างใด

ฎีกาที่ 5055/2559 เหตุคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์แล่นแซงรถกระบะที่อยู่ด้านหน้าล้ำเข้าไปเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายที่แล่นสวนทางมาในช่องเดินรถของผู้ตาย ซึ่งหากจำเลยไม่ขับรถจักรยานยนต์แล่นล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของผู้ตายเหตุครั้งนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็ว ก็อาจเป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เท่านั้น ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการกระทำความผิดของจำเลย ประการสำคัญขณะเกิดเหตุผู้ตายขับรถจักรยานยนต์แล่นอยู่ในช่องเดินรถของตน การที่ผู้ตายขับรถโดยไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและขับรถมาด้วยความเร็วดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเหตุโดยตรงที่ทำให้รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน แต่การที่รถจักรยานยนต์ของผู้ตายถูกรถจักรยานยนต์ของจำเลยเฉี่ยวชน และผู้ตายถึงแก่ความตายเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลย ผู้ตายหามีส่วนประมาทด้วยไม่ ผู้ตายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของผู้ตายย่อมมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> มียาบ้า 15 เม็ด จะพิสูจน์ต่อสู้ได้หรือไม่ว่า ไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่าย
โดย admin advanced law - ศุกร์, 14 ธันวาคม 2018, 01:13PM
 
มียาบ้า 15 เม็ด จะพิสูจน์ต่อสู้ได้หรือไม่ว่า ไม่ได้มีไว้เพื่อจำหน่าย

แต่เดิม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บัญญัติการกระทำความผิดไว้
โดยกฎหมายบัญญัติเป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดว่าหากมีปริมาณยาเสพติดตามจำนวน
ที่กำหนดไว้ ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดตามที่กำหนด

เช่น นายไก่ มียาเสพติด 15 เม็ดไว้เสพ เมื่อถูกจับจะถูกดำเนินคดีข้อหามียาเสพติดไว้
เพื่อจำหน่าย ซึ่งอัตราโทษ คือ จำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท
หรือประหารชีวิต

นั่นหมายความว่า นายไก่ ไม่สามารถสืบพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าตนแค่เสพไม่ได้
จำหน่ายได้เลย เพราะการที่กฎหมายถือว่า...เป็นการบัญญัติกฎหมายในลักษณะ
ปิดปาก(คือ ห้ามพิสูจน์เพื่อให้เห็นเป็นอย่างอื่น)

แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ โดยพระราชบัญญัติยาเสพติด
ให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ได้เปิดโอกาศให้ผู้กระทำความผิดหรือจำเลยมีช่องทางได้
ต่อสู้หรือพิสูจน์ความจริงได้ โดยแก้ไขจากเดิมบัญญัติเป็น "ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด" มาเป็น
"ข้อสันนิษฐานเบื้องต้น" เท่านั้น

จึงทำให้สามารถสืบพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดได้

กฎหมายฉบับใหม่นี้ คงเป็นการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้กระทำผิด ได้มีความหวังมากขึ้น
ในการต่อสู้คดี แต่หากมองถึงทิศทางในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้นคง
เป็นการยากที่จะจัดการปัญหานี้ให้หมดไป

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> คอยดูต้นทางให้พรรคพวกส่งยาบ้าให้ลูกค้า ผิดฐานเป็นตัวการหรือแค่ผู้สนับสนุน ?
โดย admin advanced law - ศุกร์, 14 ธันวาคม 2018, 01:12PM
 
คอยดูต้นทางให้พรรคพวกส่งยาบ้าให้ลูกค้า ผิดฐานเป็นตัวการหรือแค่ผู้สนับสนุน ?
-
ตอบ การร่วมกระทำความผิดโดยการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยเช่นกัน
-
ฎีกาที่ 5270/2560
จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์นำหน้าคอยดูต้นทางให้จำเลยที่ 1 ขับรถกระบะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้า แม้เมทแอมเฟตามีนไม่ได้อยู่กับจำเลยที่ 2 ก็เป็นเรื่องข้อจำกัดทางกายภาพที่ต้องแบ่งหน้าที่กัน เมื่อจำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งแล้วร่วมมือช่วยเหลือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้าให้สำเร็จและได้รับผลประโยชน์ตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุน
-
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 "ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น"

คำว่า “ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน” หมายถึง ความผิดนั้นต้องมีการกระทำร่วมกัน และมีเจตนาร่วมกันด้วย ไม่ใช่ต่างคนต่างกระทำ

"ร่วมกระทำ" หมายถึง ต้องร่วมแรงร่วมใจกระทำ, ร่วมด้วยช่วยกัน(มีเจตนาที่จะกระทำด้วยกัน) เช่น การแบ่งหน้าที่กันทำ, การอยู่ร่วมในที่เกิดเหตุในลักษณะที่สามารถช่วยเหลือกันได้, คอยดูต้นทางให้, คอยรับส่งผู้กระทำผิด เป็นต้น

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()