admin advanced law

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()
รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์
โดย admin advanced law - จันทร์, 17 ธันวาคม 2018, 12:35PM
 
ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557[1]


พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์และต้องการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์


สัตว์ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย คือ

"สัตว์" ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย หมายความถึง สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดงหรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

“การจัดสวัสดิภาพสัตว์” หมายความว่า การเลี้ยงหรือการดูแลให้สัตว์มีความเป็นอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม มีสุขภาพอนามัยที่ดี มีที่อยู่ อาหาร และน้ำอย่างเพียงพอ


การทารุณกรรม คือ

"การทารุณกรรม" หมายถึง การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย และให้หมายความรวมถึงการใช้สัตว์พิการ สัตว์เจ็บป่วย สัตว์ชราหรือสัตว์ที่กำลังตั้งท้องเพื่อแสวงหาประโยชน์ ใช้สัตว์ประกอบกามกิจ ใช้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควรเพราะเหตุที่สัตว์นั้นเจ็บป่วย ชราหรืออ่อนอายุ


กฎหมายคุ้มครองสัตว์ อย่างไร

1.กฎหมายห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร[2] ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ[3]

2.กฎหมายห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร[4] ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท[5]

3. เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสม หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

4.การขนส่งสัตว์ หรือการนำสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม[6] หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท[7]

(*การจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้ความเหมาะสมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยการประกาศกำหนดจะต้องคำนึงถึงประเภท ชนิด ลักษณะ สภาพ และอายุของสัตว์)


การกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์

กฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นเกี่ยวกับการกระทำบางอย่างซึ่งไม่ให้ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ซึ่งได้แก่การกระทำดังต่อไปนี้

(1) การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร

(2) การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์

(3) การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์

(4) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วย พิการ หรือบาดเจ็บและไม่สามารถเยียวยา

หรือรักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน

(5) การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา

(6) การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิตหรือร่างกายของมนุษย์

หรือสัตว์อื่น หรือป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน

(7) การกระทำใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์

โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์หรือผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทำได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับ

ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์

(8) การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาโดยมีเหตุอันสมควรและไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์

หรือการดำรงชีวิตของสัตว์

(9) การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น

(10) การกระทำอื่นใดที่มีกฎหมายกำหนดให้สามารถกระทำได้เป็นการเฉพาะ

(11) การกระทำอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

-
[1] ศิวาพร คารวนันท์, น.บ., น.ม., น.บ.ท.
[2] มาตรา 20
[3] มาตรา 31
[4] มาตรา 22
[5] มาตรา 32
[6] มาตรา 24
[7] มาตรา 32

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> มาไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนในวันสุดท้ายและหมดเวลาราชการแล้ว จะไถ่ทรัพย์คืนได้หรือไม่?
โดย admin advanced law - จันทร์, 17 ธันวาคม 2018, 12:34PM
 

หากนำเงินมาไถ่ทรัพย์คืนในวันสุดท้ายตอนเวลา 18.00 น.ผู้รับไถ่อ้างว่ามาไถ่คืน
เมื่อพ้นกำหนดเพราะหมดเวลาราชการแล้ว ไม่รับไถ่ ข้ออ้างเช่นนี้ฟังขึ้นหรือไม่
-
ตอบ ข้ออ้างฟังไม่ขึ้น
(คำตอบอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19332/2556)
-
ฎีกาที่ 19332/2556 โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินจากจำเลยเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554
อันเป็นวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ดินซึ่งขายฝาก โดยนำเงินสินไถ่เพื่อไปชำระ
ให้แก่จำเลยที่บ้าน แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงอ้างว่าหมดเวลาราชการแล้ว การกระทำ
ของโจทก์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากต่อจำเลยภายในเวลา
ที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ประกอบมาตรา 498 แล้ว
จำเลยต้องรับการไถ่ แม้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ที่ดินนั้นในเวลา 18 นาฬิกา ซึ่งล่วงพ้นเวลาราชการ
แล้ว และไม่สามารถจดทะเบียนการไถ่ขายฝากที่ดินในวันดังกล่าวได้ก็ตาม แต่การ
จดทะเบียนไถ่ทรัพย์ซึ่งขายฝาก กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ
ภายในกำหนดเวลาไถ่ทรัพย์คืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากนั้นต่อจำเลย
ภายในกำหนดเวลาไถ่ตามสัญญาขายฝากโดยชอบแล้ว จึงมีผลผูกพันใช้ยันได้ระหว่าง
โจทก์กับจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิไถ่ที่ดินซึ่งขายฝากได้

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ว่าด้วยเรื่องฟ้องเท็จในคดีแพ่ง
โดย admin advanced law - จันทร์, 17 ธันวาคม 2018, 12:33PM
 
ฟ้องเท็จในคดีแพ่ง เป็นความผิดหรือไม่
-
ตอบ ไม่เป็นความผิด เพราะไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าเป็นความผิด
-
ฟ้องเท็จในคดีแพ่งจะเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานหรือไม่
-
ตอบ ไม่เป็นความผิด
-
(ฎีกาที่ 1274/2513) การเอาความเท็จมาฟ้องในคดีแพ่งหรือการที่จำเลยในคดีแพ่งยื่นคำให้การเป็นเท็จไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เพราะมิได้เป็นการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน.และการที่โจทก์หรือจำเลยในคดีแพ่งแถลงให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จลงในสำนวนคดีแพ่งโดยมิได้มีวัตถุประสงค์จะใช้ข้อความนั้นเป็นพยานหลักฐานก็หาเป็นความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 ไม่
-
ฟ้องเท็จในคดีแพ่งไม่เป็นความผิดอาญา แต่อาจผิดเบิกความเท็จได้ใช่หรือไม่
-
ตอบ ใช่ แม้ไม่ผิดฟ้องเท็จ แต่เมื่อเบิกความในฐานะพยานยืนยันข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จนั้นก็มีความผิดฐานเบิกความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 วรรคหนึ่ง
-
(ฎีกาที่ 8691/2550) ความเท็จที่จะถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดีต้องเป็นความเท็จที่อาจทำให้คู่ความต้องแพ้ชนะกันในประเด็นแห่งคดี คดีแพ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ร่วมหรือไม่ การที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน และลายมือชื่อผู้ค้ำประกันตามสัญญาดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยนั้น ย่อมเป็นการเบิกความเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทอันเป็นข้อแพ้ชนะคดีกรณีจึงเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคำเบิกความนั้นเป็นเท็จ ดังนี้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> การปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการใช้ "อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์" ติดตามตัว ((Electronic Monitoring : EM)
โดย admin advanced law - ศุกร์, 14 ธันวาคม 2018, 01:18PM
 
การปล่อยตัวชั่วคราวด้วยการใช้ "อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์" ติดตามตัว ((Electronic Monitoring : EM)

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring : EM) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบ
คุมผู้กระทำผิดแทนการจำคุกในเรือนจำ ซึ่งจะประกอบด้วยตัวอุปกรณ์ส่งสัญญาณ มี
ลักษณะคล้ายนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือข้อเท้า ตัวอุปกรณ์รับสัญญาณ และศูนย์ควบคุมกลาง
ที่ใช้ติดตามตัว เมื่อสวมใส่อุปกรณ์ที่ข้อมือ ข้อเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่นก็จะสามารถตรวจสอบ
การเดินทางของผู้สวมใส่ได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับ
การปล่อยตัวชั่วคราว โดยบัญญัติเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่
สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวได้

ซึ่งสรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ดังนี้
1.ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราว
หรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือ
ในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจ
สอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัย
อันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น (มาตรา 108 วรรคสาม)

2.ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้
อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุ
สมควรประการอื่น (มาตรา 108 วรรคสาม)

3.ในกรณีที่มีคำสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดตามมาตรา 108
วรรคสาม กับผู้ต้องหาหรือจำเลยใด ถ้าปรากฏว่าอุปกรณ์ดังกล่าวถูกทำลายหรือทำให้ใช้การ
ไม่ได้ไม่ว่าโดยวิธีใดให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นหนีหรือจะหลบหนี (มาตรา 117
วรรคสอง)

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก็เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ไม่สามารถหาหลัก
ประกันได้เพียงพอมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้นหากยินยอมให้เจ้าพนักงานซึ่ง
มีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (เช่น กำไลติดตามตัว)
หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางได้

การนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ถือเป็นข้อดีที่ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลนัก
โทษที่ไม่ใช่ผู้กระทำความผิดร้ายแรง และยังทำให้เขาได้กลับไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้
กลับไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งการใช้อุปกรณ์ติดตามตัวนี้ได้มีการนำร่องใช้แล้ว
กับคดีเด็กแว๊นในการคุมประพฤติ โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนได้นำมาทดลอง
ใช้กับกลุ่มเด็กที่กระทำความผิดใน พ.ร.บ.จราจรฯ

นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์จะขยายผลเพื่อนำไปใช้กับผู้ต้องขังในอีกหลายกลุ่ม เช่น
กลุ่มผู้ต้องขังที่จะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก เช่น เอดส์ระยะสุดท้าย, มะเร็งระยะสุดท้าย,
ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น หรือกลุ่มที่เจ็บป่วยเรื้อรังต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ต้องฟอกไต หรือ
กลุ่มที่มีเหตุอันควรได้รับการทุเลาการบังคับ เช่น วิกลจริต หรือตั้งครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตร
เป็นต้น

แนวทางการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวนี้ ถือเป็นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งของกระบวนการ
ยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย และวิธีการดังกล่าวก็เป็นที่ยอมรับและมีใช้กันอยู่ในต่าง
ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ประเทศบราซิล ประเทศอิสราเอล เป็นต้น

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> "เสียง" สามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ได้แล้วจ้า!!
โดย admin advanced law - ศุกร์, 14 ธันวาคม 2018, 01:17PM
 
"เสียง" สามารถจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า ได้แล้วจ้า!!
-
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายใหม่ โดยเพิ่ม "เสียง"
ให้เป็น "เครื่องหมาย" ด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงสามารถนำเสียง มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าได้

เสียง (sound mark) คือ เสียงที่สามารถบ่งเฉพาะให้นึกถึงสินค้าได้ เช่น เสียงดนตรีของรถขายไอศกรีมวอลล์ ทำให้ผู้บริโภคนึกถึงไอศกรีมดังกล่าวไม่ใช่ไอศกรีมอื่น

เสียงเป็นเครื่องหมายที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา แต่ใช้เสียงเป็นสื่อในการสังเกตจดจำและแยกความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าเสียงของบุคคลอื่นรวมทั้งแตกต่างจากเครื่องหมายคำและรูปในแบบดั้งเดิม ซึ่งนิยมใช้ในธุรกิจทางด้านการโฆษณา รายการทางโทรทัศน์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ธุรกิจการค้าต่าง ๆ การจำหน่ายสินค้าไอศกรีม เป็นต้น


หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()