admin advanced law

หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()
รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> การนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โดย admin advanced law - ศุกร์, 21 สิงหาคม 2020, 02:19PM
 
ถาม - การนัดหยุดงาน โดยชุมนุมกันนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและสุขาเคลื่อนที่เข้าไปติดตั้งใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยส่งเสียงรบกวนการทำงานของพนักงานอื่นที่ไม่ได้หยุดงาน ต่อเนื่องกันหลายวัน เป็นการนัดหยุดงานที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากถูกเลิกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างหรือไม่

ตอบ - เป็นการนัดหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การชุมนุมก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างถือว่าทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ฎีกาที่ 8986 - 8997/2561

ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 คำว่า "การนัดหยุดงาน" หมายความว่า การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน แสดงว่าการนัดหยุดงานเป็นวิธีการของฝ่ายลูกจ้างที่ได้กระทำเพื่อบังคับฝ่ายนายจ้างให้ยอมรับตามข้อเรียกร้องของตนในการเจรจาต่อรองโดยวิธีการร่วมกันไม่ทำงานให้แก่นายจ้างพร้อมกันเท่านั้น แต่การกระทำอย่างอื่น เช่น การปิดกั้นหรือการชุมนุมโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้นย่อมมิใช่การนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานแต่อย่างใด และเมื่อมิใช่การนัดหยุดงานและไม่มีกฎหมายระบุให้กระทำได้โดยไม่ต้องรับผิด ดังเช่นที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 แล้ว ผู้กระทำย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีการใช้กำลังฝ่าฝืนดึงดันเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ฟังการห้ามปรามของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยและบริษัท จ. มีการนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและสุขาเคลื่อนที่เข้าไปติดตั้ง นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าไปจอด ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยส่งเสียงรบกวนการทำงานของพนักงานจำเลยและบริษัท จ. ที่ไม่ได้หยุดงานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันชุมนุมโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 (4) โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อการชุมนุมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> ส่งข้อความข่มขู่ให้เด็กมาหาและกระทำชำเรา เป็นพรากเด็กเพื่อการอนาจารหรือไม่
โดย admin advanced law - ศุกร์, 21 สิงหาคม 2020, 02:15PM
 
ถาม - จำเลยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กข่มขู่ให้ผู้เสียหายอายุ 13 ปีเศษไปหาและกระทำชำเรา กรณีเช่นนี้จำเลยมีความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจารด้วยหรือไม่

ตอบ - จำเลยไม่มีความผิดฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร

ฎีกาที่ 8827/2561
แม้ที่ผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่า ที่ไปที่ห้องพักของจำเลยเป็นเพราะจำเลยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหา จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม การตัดสินใจจะไปหรือไม่ก็เป็นของผู้เสียหายที่ 2 เอง จำเลยไม่ได้กระทำการอันใดอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดา จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร

รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> พรากผู้เยาว์
โดย admin advanced law - พุธ, 3 มิถุนายน 2020, 01:22PM
 
พรากผู้เยาว์
-
ความหมายของคำว่า "พราก" คือ ?

 - พราก (ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554) หมายถึง ทำให้จากไป, พาไปเสียจาก, ทำให้แยกออกจากกัน
  - พรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ จึงหมายถึง การพาไปหรือการแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าวถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน อันเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
-

การกระทำอย่างไรที่เข้าลักษณะเป็นการ "พรากผู้เยาว์" ?

  - หลักเกณฑ์ ในการพิจารณาว่าการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเข้าลักษณะเป็นการพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์หรือไม่ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ
  1.เด็กหรือผู้เยาว์ ต้องอยู่ในความปกครองดูแลของบุคคลที่กฎหมายกำหนดในขณะที่มีการพราก
  2.มีการกระทำอันเป็นการพาไปหรือแยกไปที่ทำให้ความปกครองดูแลถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน
-

  - ฏีกาที่เคยวินิจฉัยว่าเด็กหรือผู้เยาว์ที่หนีออกจากบ้านมาเป็นเด็กเร่ร่อนและขอทานไม่อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล จึงไม่เป็นความผิดฐานพราก

  ฎีกาที่ 2591/2540 การที่เด็กหนีออกจากบ้านมาเป็นเด็กเร่ร่อนและขอทานอยู่โดยไม่ยอมกลับบ้านอีก ย่อมแสดงว่าเด็กได้หนีไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยเด็ดขาดแล้ว แม้มารดาเด็กยังติดตามหาอยู่ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเด็กยังอยู่ในความปกครองดูแลของมารดาในขณะนั้นแต่อย่างใด
 
  -แต่กรณีที่เด็กหนีออกจากบ้านไปโดยไม่ได้จะหนีไปเป็นเด็กเร่ร่อนและบิดามารดายังติดตามหา ถือว่าเด็กยังอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา

  ฎีกาที่ 8052/2549 ก่อนเกิดเหตุเด็กหญิง ท. ทะเลาะกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาและหนีออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพัก โจทก์ร่วมยังเคยไปตามหาเด็กหญิง ท. ที่หอพักดังกล่าวแต่ไม่พบ บิดามารดายังเอาใจใส่ติดตามตัวอยู่พฤติการณ์บ่งชี้แสดงให้เห็นว่าเด็กหญิง ท. ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ดังนั้นการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิง ท. ที่หอพักแล้วพาไปนั่งรถเล่นกับพาไปนั่งฟังเพลงต่อที่ห้องพักของเพื่อนจำเลย และขณะอยู่ในห้องพักจำเลยได้กอดจูบเด็กหญิง ท. จึงเป็นการพาเด็กหญิง ท.ออกจากหอพักไปเที่ยวเล่นโดยเจตนามุ่งหมายที่จะล่วงเกินทางเพศหรือกระทำอนาจารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากบิดา มารดา ย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ของบิดามารดาได้ถูกพรากจากไปโดยปริยาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม

  ฎีกาที่ 5620/2552 ขณะเกิดเหตุเด็กทั้งสามคนยังมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลใช้อำนาจปกครองอยู่ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงไม่ใช่เป็นเด็กจรจัด เร่ร่อน ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแห่งตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง บิดามารดาของเด็กทั้งสามคนมีฐานะยากจนต้องออกทำงานหาเลี้ยงชีพในแต่ละวันจึงต้องปล่อยให้เด็กทั้งสามคนเที่ยวเล่นอยู่ตามลำพัง ตามประสาเด็กเท่านั้น แต่ก็ยังใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสามคนอยู่ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองชักชวนเด็กทั้งสามคนไปทำงานบ้านอยู่กับจำเลยทั้งสองที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่กลับพาไปบวชเป็นสามเณรแล้วพาออกแจกซองผ้าป่าตามจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของเด็กทั้งสามคน จึงเป็นการพรากเด็กทั้งสามคนไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร และการที่จำเลยทั้งสองนำเด็กทั้งสามคนแต่งกายเป็นสามเณรออกเที่ยวแจกซองผ้าป่า เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน อันเป็นการใช้เด็กทั้งสามคนและศาสนาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพของจำเลยทั้งสอง ทำให้ศาสนาต้องมัวหมองและเป็นที่เสื่อมศรัทธาแก่ผู้พบเห็นโดยทั่วไป พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กชายทั้งสามซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปีไปเสียยจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
-

 ตัวอย่าง แนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์
-

ฎีกาที่ 759/2562 ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้นการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าการพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล สำหรับการกระทำอนาจารหมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร
 ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 3 ขี่มาจนผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ จากนั้นจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ชอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทางเป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร

  ฎีกาที่ 4057/2562 ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ อันไม่ใช่ตัวผู้เยาว์ที่ถูกพรากและปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการอันใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใดหากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลผู้เยาว์บิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองนอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองหรือโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาออกจากบ้านไปเล่นกับเพื่อนในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 2 หรือไม่ก็ตาม เมื่อถูกจำเลยพาไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรานี้จะต้องถึงขนาดเป็นการกระทำที่ต้องพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองตั้งแต่ออกจากบ้าน ถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านแล้วถูกจำเลยกระทำลักษณะเสื่อมเสียเยี่ยงนี้ ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดา อันเป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม

  ฎีกาที่ 4087/2562 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่กระท่อมของจำเลย จำเลยข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ให้ออกจากกระท่อม เพื่อต้องการกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ภายในกระท่อมกับจำเลย ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ที่ใด หากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมของจำเลย เป็นการแยกอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากโจทก์ร่วมที่ 2 แม้เพียงชั่วคราวก็เป็นการพรากผู้เยาว์ เมื่อจำเลยพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ไปจากโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร

  ฎีกาที่ 3419/2559 บ้านที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบ้านของผู้เสียหายที่ 2 ประมาณ 30 เมตรขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เล่นขายของอยู่กับเพื่อนในบริเวณดังกล่าว จำเลยดึงแขนผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นบ้านและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือได้ว่าขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในความปกครองและการดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นยาย การกระทำของจำเลยเป็นการแยกสิทธิในการปกครองและดูแลผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม

  ฎีกาที่ 1766/2558 แม้ในตอนแรก ต. จะเป็นคนพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ห้องน้ำแต่ขณะจำเลยจะเข้าไปข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งหนีออกจากห้องน้ำเพราะคาดเดาได้ว่าจำเลยจะมาข่มขืนกระทำชำเราซึ่งผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยตามไปฉุดกระชากตัวผู้เสียหายที่ 2 กลับมาและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำที่เกิดเหตุจึงเป็นการพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง เมื่อขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา การที่จำเลยฉุดกระชากผู้เสียหายที่ 2 ไปข่มขืนกระทำชำเราในห้องน้ำ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 เพราะเป็นการแยกสิทธิปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองอีกกระทงหนึ่งเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง

  ฎีกาที่ 5484/2555 ผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลยโดยจำเลยไม่ได้ชักชวนมา เพียงผู้เสียหายแวะมาซื้อขนมและมาเล่นเอง แต่จำเลยเป็นผู้พาผู้เสียหายเข้าไปในห้องนอนซึ่งอยู่บริเวณชั้นล่างแล้วกระทำอนาจารผู้เสียหาย ดังนั้น แม้จำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายในบ้านของจำเลย ขณะนั้นก็ถือได้ว่าผู้เสียหายยังอยู่ในความปกครองดูแลของ บ.ผู้เป็นยาย การกระทำของจำเลยย่อมกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของ บ.เพราะแยกสิทธิปกครองของ บ. ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
-

 ตัวอย่าง แนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่เคยวินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์
-
  ฎีกาที่ 1174/2558 ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 317 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลแต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพรากซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ไปดื่มเบียร์กับ ส. ภริยาจำเลยจนเมาไม่ได้สติ ส. พาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปส่งที่บ้าน แต่ ด. ยายของผู้เสียหายที่ 1 ให้ ส. พาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปเพราะเกรงว่าผู้เสียหายที่ 1 จะถูกลงโทษ ส. จึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปนอนที่แคร่หน้าห้องนอนของจำเลยและ ส. เมื่อจำเลยกลับถึงบ้านเห็นผู้เสียหายที่ 1 นอนหลับอยู่บนแคร่จึงกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมิได้กระทำการอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้ดูแล คงมีแต่เจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น แม้หลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ที่แคร่แล้วจำเลยจะอุ้มผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปกระทำชำเราในห้องนอนของบุตรสาวจำเลยซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันอีก 2 ครั้ง ก็ไม่เป็นการกระทำที่เป็นการพรากตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเพราะมิได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่อื่นอีกและถือไม่ได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย

  ฎีกาที่ 4523/2554 คำว่า บิดาหรือผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 หมายความถึง บิดาหรือผู้ดูแลผู้เยาว์ตามความเป็นจริงด้วย แม้จะเป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายดังกล่าว หากไม่ได้ใช้อำนาจปกครองดูแลผู้เยาว์ก็อาจสิ้นสุดลงได้ และความปกครองดูแลโดยพฤตินัยนั้นก็อาจสิ้นสุดลงได้เช่นกัน
  ส.บิดาของผู้เสียหายได้แยกทางกับมารดาของผู้เสียหายและไปมีภริยาใหม่ ไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เสียหายมานาน 7 ปีแล้ว และผู้เสียหายไปอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของ บ.ผู้เป็นยาย ผู้เสียหายจึงมิได้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูและอำนาจปกครองดูแลของ ส.ผู้เป็นบิดาแล้ว ส่วน บ.แม้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้เสียหายอยู่ก่อนเกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุประมาณ 10 กว่าวัน ผู้เสียหายได้หลบหนีออกจากบ้าน บ.ไปอยู่กับ ด.ผู้เป็นพี่สาวและรับจ้างทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านคาราโอเกะซึ่งอยู่ต่างอำเภอกัน ทั้ง บ. ไม่ทราบว่าผู้เสียหายหลบหนีไปอยู่ไหนกับผู้ใดและติดตามหาไม่พบ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุ 15 ปีเศษแล้ว และเคยออกจากบ้านไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับ ป. มาก่อน แสดงว่าผู้เสียหายโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่น้อย พฤติการณ์บ่งชี้ว่าผู้เสียหายสมัครใจหลบหนีออกจากบ้านเจตนาไปทำงานเลี้ยงชีพพึ่งตนเองโดยลำพังไม่ประสงค์จะพึ่งพาอาศัยอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูและในความดูแลของ บ. ผู้เป็นยายอีกต่อไป ผู้เสียหายจึงขาดจากความดูแลของ บ. ผู้เป็นยายแล้ว หาใช่ว่าผู้เสียหายไปจากความดูแลของ บ.เพียงชั่วคราว ไม่ขาดจากอำนาจปกครองดูแลของ ส. ผู้เป็นบิดาและความดูแลของ บ. ผู้เป็นยายไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากความปกครองดูแลของบิดาและยายของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318

  ฎีกาที่ 5880/2546 จำเลยกับผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 14 ปีเศษรักใคร่กันอย่างชู้สาวมารดาผู้เสียหายก็ทราบและอนุญาตให้จำเลยพาผู้เสียหายออกจากบ้านไปรับประทานอาหารเที่ยวชมภาพยนตร์กันบ้างเพื่อให้จำเลยและผู้เสียหายได้มีโอกาสอยู่ด้วยกัน และทำความรู้จักคุ้นเคยกันเพื่อประโยชน์ของการอยู่กินเป็นสามีภริยากันในวันข้างหน้า และทุกครั้งจำเลยก็จะพากลับมาส่งที่บ้าน อันเป็นการยอมรับในอำนาจการปกครองของบิดามารดาผู้เสียหายอยู่ การที่จำเลยได้ล่วงเกินทางเพศแก่ผู้เสียหายด้วยการกอดจูบรวมทั้งกระทำชำเราผู้เสียหายก็เป็นไปตามโอกาสและตามวิสัยคนรักใคร่ชอบพอกัน ซึ่งจำเลยต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำของตนในแต่ละครั้งอยู่แล้วหากการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ยังไม่พอถือได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
-
ความรู้กฎหมายโดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรอการลงโทษ
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 1 สิงหาคม 2019, 02:35PM
 
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรอการลงโทษ

-
จากกรณีที่เป็นข่าว ศาลจังหวัดตลิ่งชันอ่านคำพิพากษาคดีเสี่ยขับเบนซ์ชนรองตี๋และภรรยาเสียชีวิตส่วนบุตรสาวของผู้เสียชีวิตได้รับอันตรายสาหัสนั้น คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี 5 ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน ใน 3 ความผิด ได้แก่ 1. ขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด 2. ขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย และ 3. ขับรถโดยประมาท อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นควรพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว แต่หลายความผิดจึงลงโทษหนักที่สุดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ จำคุก 6 ปี ปรับ 200,000 บาท แต่จำเลยได้ให้การเป็นประโยชน์ สำนึกผิดและไม่เคยมีประวัติต้องโทษมาก่อน ศาลจึงให้โอกาสกลับตนเป็นคนดีของสังคม จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสนบาท และโทษจำคุกรอลงอาญา 3 ปี โดยระหว่างนี้ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้งใน 2 ปี รวมทั้งบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ 48 ชั่วโมงในเวลา 1 ปี พร้อมทั้งห้ามดื่มสุรา และจำเลยจะมอบเงินให้ลูกสาวของผู้ตาย ทั้ง 2 คน คนละ 10,000 บาท ต่อเดือน และค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว 20,000 บาท รวม 40,000 บาท เป็นระยะเวลา 8 ปี จนบรรลุนิติภาวะ


หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรอการลงโทษตามกฎหมายนั้น มีอยู่อย่างไร ก่อนอื่นต้องขอให้เข้าใจเจตนารมณ์หรือแนวคิดเกี่ยวกับการรอการลงโทษเสียก่อนว่า การรอการลงโทษนั้นมีแนวความคิดว่าการลงโทษระยะสั้นไม่เป็นประโยชน์และไม่ได้เกิดผลในการแก้ไขผู้กระทำความผิดให้กลับตัวเป็นคนดีได้แล้วยังทำให้กลายเป็นผลเสียคือทำให้ผู้นั้นมีประวัติเสื่อมเสียและยากที่จะกลับตัวมาประกอบสัมมาอาชีพโดยสุจริตต่อไปได้เพราะอาจถูกตีตราจากบุคคลอื่นในสังคมว่าเป็นอาชญากร ทั้งยังจะส่งผลเสียหายแก่บุคคลในครอบครัวหรือผู้อยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของผู้นั้นต้องลำบากขาดที่พึ่งพาทำให้เดือดร้อนทุกข์ยากไปด้วย กฎหมายอาญาจึงหาแนวทางในการใช้วิธีการอื่นแทนการลงโทษจำคุกระยะสั้น ซึ่งหนึ่งในวิธีการนั้นก็คือการรอการลงโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดนั่นเอง ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาโดยกำหนดโทษและรอการลงโทษไว้ได้ ซึ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ปรากฎอยู่ในมาตรา 56


ซึ่งสามารถสรุปหลักเกณฑ์ได้ดังนี้ คือ

1.คดีนั้นเป็นคดีที่ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ

2.ปรากฎว่าผู้นั้น
(2.1) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
(2.2) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
(2.3) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีกโดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
3.เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ
ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว

4.ศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

5.กรณีศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิด ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อตามควรแก่กรณีได้ ดังต่อไปนี้
(5.1) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถามแนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
(5.2) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(5.3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(5.4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจหรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(5.5) ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(5.6) ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนดทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้
(5.7) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน
(5.8) ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมหรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว
(5.9) ให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย หรือก่อให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน
(5.10) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก หรือเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร

อย่างไรก็แล้วแต่ แม้ศาลจะกำหนดรอการลงโทษให้ก็ตาม แต่หากผู้กระทำความผิดกระทำผิดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด หากความปรากฎแก่ศาล ศาลก็มีอำนาจที่จะตักเตือนผู้กระทำความผิด หรือจะกำหนดการลงโทษที่ยังไม่ได้กำหนดหรือจะลงโทษซึ่งรอไว้นั้นก็ได้

ดังนั้น เมื่อผู้กระทำความผิดได้รับโอกาสในการรอการลงโทษเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนเดิมต่อไปแล้ว ก็ขอให้ใช้โอกาสนั้นกลับตัวกลับใจเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม มีสำนึกรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไปด้วย


รูปภาพของadmin advanced law
ความรู้กฎหมายทั่วไป by อ.เกด, อ.พิชัย ไลน์ 0862310999 -> สาระสำคัญว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
โดย admin advanced law - พุธ, 24 กรกฎาคม 2019, 01:30PM
 

สรุปสาระสำคัญ

พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562

เนื่องจากในปัจจุบันข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจึงมีการเห็นควรให้นำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนักและข้อพิพาททางอาญาบางประเภทมากำหนดเป็นกฎหมายกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐพนักงานสอบสวนหรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ ทั้งนี้ด้วยการคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ เพื่อให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความสมานฉันท์มากขึ้นในสังคม ลดงบประมาณแผ่นดิน และเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ขึ้นเพื่อเป็นกฎหมายกลางในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

“การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” คืออะไร

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คือ การดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาลและในชั้นการบังคับคดี

ดังนั้น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติฯ นี้ จึงหมายถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในชั้นศาลและชั้นการบังคับคดี เช่น การไกล่เกลี่ยในชั้นของหน่วยงานต่างๆที่ดำเนินการไกล่เกลี่ย หรือในชั้นสอบสวน เป็นต้น

“ผู้ไกล่เกลี่ย” คือใคร

ผู้ไกล่เกลี่ย คือ บุคคลซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติ

(1) ผ่านการอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติรับรอง

(2) เป็นผู้มีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ข. ลักษณะต้องห้าม

(1) เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(2) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(3) เคยถูกเพิกถอนการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัตินี้ และยังไม่พ้นห้าปี นับถึงวันยื่นคำขอรับหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย

“การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง” ทำได้ในทุกคดีหรือไม่

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ไม่สามารถทำได้ทุกคดี

- คดีทางแพ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ ได้แก่

1) คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล

2) คดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว หรือ

3) คดีเกี่ยวกับการพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งให้กระทำได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

1) ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์

2) ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก

3) ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

4) ข้อพิพาทอื่นนอกจาก 1), 2) และ 3) ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าล้านบาท หรือไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

“การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา” คืออะไร และทำได้ในทุกคดีหรือไม่

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา คือ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนจัดให้คู่กรณีในคดีอาญามีโอกาสเจรจาตกลงหรือเยียวยาความเสียหายเพื่อระงับคดีอาญา

- “คู่กรณี” หมายถึง ผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา แต่ไม่หมายความรวมถึงคดีอาญาที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหาย

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ไม่สามารถทำได้ทุกคดี

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ให้กระทำได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

1) คดีความผิดอันยอมความได้

2) คดีความผิดลหุโทษตามมาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 393 มาตรา 394 มาตรา 395 และมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

3) คดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562

- คดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ตามบัญชีท้ายฯ ได้แก่

(1) ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุนมุนต่อสู้และมีผู้ถึงแก่ความตายจากการชุลมุนต่อสู้นั้น ตามมาตรา 294 วรรคหนึ่ง

(2) ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295

(3) ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 296

(4) ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุนมุนต่อสู้และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสจากการชุลมุน

ต่อสู้นั้น ตามมาตรา 299 วรรคหนึ่ง

(5) ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 300

(6) ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334

- สำหรับคดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีนั้น ต้องเป็นกรณีที่

(1) ผู้ต้องหาไม่เคยได้รับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่เป็นคดีความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท คดีความผิดลหุโทษ ซึ่งพ้นระยะเวลาเกินสามปีนับแต่มีคำสั่งยุติคดี และ

(2) ผู้ต้องหาไม่อยู่ระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือพ้นโทษมาแล้วเกินกว่าห้าปี เว้นแต่เป็นคดีความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท คดีความผิดลหุโทษ หรือคดีความผิดที่ผู้ต้องหาได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

หากคู่กรณีต้องการยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน จะกระทำได้หรือไม่

- คู่กรณีคนใดคนหนึ่งอาจขอถอนตัวเพื่อยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในเวลาใดก็ได้

- ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหลายคน การขอถอนตัวเพื่อยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาของคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ย่อมไม่กระทบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาของคู่กรณีที่เหลืออยู่ทั้งสองฝ่าย

ผู้ไกล่เกลี่ยจะยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ได้หรือไม่

ผู้ไกล่เกลี่ยอาจยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาโดยไม่แจ้งหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา

(2) มีเหตุอันควรสงสัยว่าความตกลงนั้นมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ

(3) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาไม่อาจบรรลุผลได้โดยแน่แท้

(4) เห็นได้ชัดว่าการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาต่อไปจะเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นผู้เยาว์

(5) คู่กรณีไม่สามารถเจรจาเพื่อตกลงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา หากสำเร็จ มีผลประการใด

- เมื่อคู่กรณีได้มีข้อตกลงเป็นประการใดแล้ว ให้ผู้ไกล่เกลี่ยบันทึกข้อตกลงหรือจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้คู่กรณีและผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อไว้ แล้วให้ผู้ไกล่เกลี่ยส่งบันทึกข้อตกลงไปยังพนักงานสอบสวน เมื่อคู่กรณีได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงแล้ว ให้แจ้งพนักงานสอบสวนทราบ เพื่อจัดทำบันทึกการปฏิบัติตามข้อตกลง ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาสั่งยุติคดี เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งยุติคดี สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ

- ในกรณีที่มีการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงไม่ครบถ้วน ให้คู่กรณีแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อเสนอพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งพิจารณามีคำสั่งดำเนินคดีต่อไป เว้นแต่ผู้เสียหายพอใจในการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้กระทำไปแล้ว ให้คู่กรณีแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาสั่งยุติคดี

- แต่ถ้าความปรากฏแก่พนักงานสอบสวนว่าคู่กรณีที่เป็นผู้ต้องหาจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่มีเหตุอันควร ให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งมีคำสั่งดำเนินคดีต่อไป

-

ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์

-ติวเตอร์ประจำสถาบันสอนเสริมกฎหมาย Advanced Law

-ติวกฎหมาย ป.ตรี ติวเนติฯ ติวทนายความ

-ติวส่วนตัว (PRIVATE TUTOR) , ติวกลุ่มเล็ก

-สถาบันติวกฎหมายแห่งเดียวที่มีการรับรองผลจนสอบผ่านหลักสูตรกฎหมายทุกหลักสูตร

-ติดต่อสอบถาม/ขอคำแนะนำการเรียนกฎหมายได้ฟรีที่

Email : lawyer_ram@hotmail.com

Website : www.law-webservice.com

Facebook : สถาบันสอนเสริมกฎหมาย Advanced Law


หน้า: ()   1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18 ...19   ()