พรากผู้เยาว์
-
ความหมายของคำว่า "พราก" คือ ?
- พราก (ความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554) หมายถึง ทำให้จากไป, พาไปเสียจาก, ทำให้แยกออกจากกัน
- พรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์ จึงหมายถึง การพาไปหรือการแยกเด็กหรือผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล ทำให้ความปกครองดูแลของบุคคลดังกล่าวถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน อันเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล
-
การกระทำอย่างไรที่เข้าลักษณะเป็นการ "พรากผู้เยาว์" ?
- หลักเกณฑ์ ในการพิจารณาว่าการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเข้าลักษณะเป็นการพรากเด็กหรือพรากผู้เยาว์หรือไม่ ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ
1.เด็กหรือผู้เยาว์ ต้องอยู่ในความปกครองดูแลของบุคคลที่กฎหมายกำหนดในขณะที่มีการพราก
2.มีการกระทำอันเป็นการพาไปหรือแยกไปที่ทำให้ความปกครองดูแลถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน
-
- ฏีกาที่เคยวินิจฉัยว่าเด็กหรือผู้เยาว์ที่หนีออกจากบ้านมาเป็นเด็กเร่ร่อนและขอทานไม่อยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล จึงไม่เป็นความผิดฐานพราก
ฎีกาที่ 2591/2540 การที่เด็กหนีออกจากบ้านมาเป็นเด็กเร่ร่อนและขอทานอยู่โดยไม่ยอมกลับบ้านอีก ย่อมแสดงว่าเด็กได้หนีไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดาผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยเด็ดขาดแล้ว แม้มารดาเด็กยังติดตามหาอยู่ก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเด็กยังอยู่ในความปกครองดูแลของมารดาในขณะนั้นแต่อย่างใด
-แต่กรณีที่เด็กหนีออกจากบ้านไปโดยไม่ได้จะหนีไปเป็นเด็กเร่ร่อนและบิดามารดายังติดตามหา ถือว่าเด็กยังอยู่ในความปกครองดูแลของบิดามารดา
ฎีกาที่ 8052/2549 ก่อนเกิดเหตุเด็กหญิง ท. ทะเลาะกับโจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาและหนีออกจากบ้านไปพักอาศัยอยู่กับเพื่อนที่หอพัก โจทก์ร่วมยังเคยไปตามหาเด็กหญิง ท. ที่หอพักดังกล่าวแต่ไม่พบ บิดามารดายังเอาใจใส่ติดตามตัวอยู่พฤติการณ์บ่งชี้แสดงให้เห็นว่าเด็กหญิง ท. ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ดังนั้นการที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์มารับเด็กหญิง ท. ที่หอพักแล้วพาไปนั่งรถเล่นกับพาไปนั่งฟังเพลงต่อที่ห้องพักของเพื่อนจำเลย และขณะอยู่ในห้องพักจำเลยได้กอดจูบเด็กหญิง ท. จึงเป็นการพาเด็กหญิง ท.ออกจากหอพักไปเที่ยวเล่นโดยเจตนามุ่งหมายที่จะล่วงเกินทางเพศหรือกระทำอนาจารโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากบิดา มารดา ย่อมทำให้อำนาจปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ของบิดามารดาได้ถูกพรากจากไปโดยปริยาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม
ฎีกาที่ 5620/2552 ขณะเกิดเหตุเด็กทั้งสามคนยังมีบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลใช้อำนาจปกครองอยู่ และมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจึงไม่ใช่เป็นเด็กจรจัด เร่ร่อน ไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลและไม่มีที่อยู่เป็นหลักแห่งตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง บิดามารดาของเด็กทั้งสามคนมีฐานะยากจนต้องออกทำงานหาเลี้ยงชีพในแต่ละวันจึงต้องปล่อยให้เด็กทั้งสามคนเที่ยวเล่นอยู่ตามลำพัง ตามประสาเด็กเท่านั้น แต่ก็ยังใช้อำนาจปกครองเด็กทั้งสามคนอยู่ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองชักชวนเด็กทั้งสามคนไปทำงานบ้านอยู่กับจำเลยทั้งสองที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่กลับพาไปบวชเป็นสามเณรแล้วพาออกแจกซองผ้าป่าตามจังหวัดต่าง ๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบิดามารดาของเด็กทั้งสามคน จึงเป็นการพรากเด็กทั้งสามคนไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร และการที่จำเลยทั้งสองนำเด็กทั้งสามคนแต่งกายเป็นสามเณรออกเที่ยวแจกซองผ้าป่า เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านแล้วแบ่งผลประโยชน์กัน อันเป็นการใช้เด็กทั้งสามคนและศาสนาเป็นเครื่องมือในการหาเลี้ยงชีพของจำเลยทั้งสอง ทำให้ศาสนาต้องมัวหมองและเป็นที่เสื่อมศรัทธาแก่ผู้พบเห็นโดยทั่วไป พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กชายทั้งสามซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปีไปเสียยจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไรตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
-
ตัวอย่าง แนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่วินิจฉัยว่าเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์
-
ฎีกาที่ 759/2562 ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) กฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบุคคลดังกล่าว อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้นการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จึงไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหวหรือควบคุมเด็กไว้ เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก การจะเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก (เดิม) สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่าการพาไปหรือแยกเด็กไปนั้นได้รับความยินยอมจากบุคคลดังกล่าวให้ไปกับบุคคลที่พาไปหรือไม่ หรือมิฉะนั้นบุคคลที่พาเด็กนั้นไปจะต้องมีเหตุอันสมควร หากการพาหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดาเด็ก การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล สำหรับการกระทำอนาจารหมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบ ลูบคลำ แตะต้องเนื้อตัวร่างกายในทางไม่สมควร
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นเด็กอายุ 10 ปีเศษ ยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นบิดามารดา การที่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายถีบรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ 3 ขี่มาจนผู้เสียหายที่ 3 จำต้องหยุดรถ จากนั้นจำเลยจับแขนดึงผู้เสียหายที่ 3 เข้ามากอด หอมที่ชอกคอ จับนมของผู้เสียหายที่ 3 แล้วล็อกคอของผู้เสียหายที่ 3 ลากเข้าไปในป่ามันสำปะหลังข้างทางเป็นเหตุให้ขาของผู้เสียหายที่ 3 เกี่ยวกับลวดหนามได้รับบาดเจ็บ โดยผู้เสียหายที่ 3 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และโดยผู้เสียหายที่ 3 ไม่ยินยอม การกระทำดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการพาไปหรือแยกผู้เสียหายที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดา เพื่อกระทำการที่ไม่สมควรทางเพศ จำเลยจึงมีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
ฎีกาที่ 4057/2562 ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ อันไม่ใช่ตัวผู้เยาว์ที่ถูกพรากและปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการอันใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครอง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใดหากบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองยังดูแลเอาใจใส่อยู่ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองดูแลผู้เยาว์บิดามารดา ผู้ดูแล หรือผู้ปกครองนอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายออกจากบ้านเองหรือโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด การที่ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งอาศัยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาออกจากบ้านไปเล่นกับเพื่อนในที่เกิดเหตุซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้าน ไม่ว่าจะขออนุญาตผู้เสียหายที่ 2 หรือไม่ก็ตาม เมื่อถูกจำเลยพาไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปแล้วโดยปริยาย หาใช่ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรานี้จะต้องถึงขนาดเป็นการกระทำที่ต้องพาไปหรือแยกผู้เยาว์ออกไปจากความปกครองตั้งแต่ออกจากบ้าน ถึงจะทำให้ความปกครองถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนแล้วจึงเป็นความผิด ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ออกจากบ้านแล้วถูกจำเลยกระทำลักษณะเสื่อมเสียเยี่ยงนี้ ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกผู้เยาว์ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบิดา อันเป็นความหมายของคำว่าพรากแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม
ฎีกาที่ 4087/2562 โจทก์ร่วมที่ 1 ไปที่กระท่อมของจำเลย จำเลยข่มขู่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ให้ออกจากกระท่อม เพื่อต้องการกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 โดยโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ปกครองไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 อยู่ภายในกระท่อมกับจำเลย ทั้งนี้ ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ที่ใด หากบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา การที่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากกระท่อมของจำเลย เป็นการแยกอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 1 ออกจากโจทก์ร่วมที่ 2 แม้เพียงชั่วคราวก็เป็นการพรากผู้เยาว์ เมื่อจำเลยพรากโจทก์ร่วมที่ 1 ไปจากโจทก์ร่วมที่ 2 แล้วกระทำชำเราโจทก์ร่วมที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร
ฎีกาที่ 3419/2559 บ้านที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบ้านของผู้เสียหายที่ 2 ประมาณ 30 เมตรขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เล่นขายของอยู่กับเพื่อนในบริเวณดังกล่าว จำเลยดึงแขนผู้เสียหายที่ 1 ขึ้นบ้านและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ถือได้ว่าขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ยังอยู่ในความปกครองและการดูแลของผู้เสียหายที่ 2 ผู้เป็นยาย การกระทำของจำเลยเป็นการแยกสิทธิในการปกครองและดูแลผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ.มาตรา 317 วรรคสาม
ฎีกาที่ 1766/2558 แม้ในตอนแรก ต. จะเป็นคนพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่ห้องน้ำแต่ขณะจำเลยจะเข้าไปข่มขืนกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 วิ่งหนีออกจากห้องน้ำเพราะคาดเดาได้ว่าจำเลยจะมาข่มขืนกระทำชำเราซึ่งผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยตามไปฉุดกระชากตัวผู้เสียหายที่ 2 กลับมาและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องน้ำที่เกิดเหตุจึงเป็นการพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง เมื่อขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ยังอยู่ในความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดา การที่จำเลยฉุดกระชากผู้เสียหายที่ 2 ไปข่มขืนกระทำชำเราในห้องน้ำ ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 เพราะเป็นการแยกสิทธิปกครองของผู้เสียหายที่ 1 ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร อันเป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองอีกกระทงหนึ่งเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง
ฎีกาที่ 5484/2555 ผู้เสียหายไปที่บ้านจำเลยโดยจำเลยไม่ได้ชักชวนมา เพียงผู้เสียหายแวะมาซื้อขนมและมาเล่นเอง แต่จำเลยเป็นผู้พาผู้เสียหายเข้าไปในห้องนอนซึ่งอยู่บริเวณชั้นล่างแล้วกระทำอนาจารผู้เสียหาย ดังนั้น แม้จำเลยได้กระทำอนาจารผู้เสียหายในบ้านของจำเลย ขณะนั้นก็ถือได้ว่าผู้เสียหายยังอยู่ในความปกครองดูแลของ บ.ผู้เป็นยาย การกระทำของจำเลยย่อมกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของ บ.เพราะแยกสิทธิปกครองของ บ. ในการควบคุมดูแลผู้เสียหายโดยปราศจากเหตุอันสมควร เป็นความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
-
ตัวอย่าง แนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่เคยวินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์
-
ฎีกาที่ 1174/2558 ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 317 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลแต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพรากซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ไปดื่มเบียร์กับ ส. ภริยาจำเลยจนเมาไม่ได้สติ ส. พาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปส่งที่บ้าน แต่ ด. ยายของผู้เสียหายที่ 1 ให้ ส. พาผู้เสียหายที่ 1 กลับไปเพราะเกรงว่าผู้เสียหายที่ 1 จะถูกลงโทษ ส. จึงพาผู้เสียหายที่ 1 ไปนอนที่แคร่หน้าห้องนอนของจำเลยและ ส. เมื่อจำเลยกลับถึงบ้านเห็นผู้เสียหายที่ 1 นอนหลับอยู่บนแคร่จึงกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจึงมิได้กระทำการอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากผู้ดูแล คงมีแต่เจตนากระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น แม้หลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ที่แคร่แล้วจำเลยจะอุ้มผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปกระทำชำเราในห้องนอนของบุตรสาวจำเลยซึ่งอยู่บริเวณเดียวกันอีก 2 ครั้ง ก็ไม่เป็นการกระทำที่เป็นการพรากตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเพราะมิได้พาผู้เสียหายที่ 1 ไปที่อื่นอีกและถือไม่ได้ว่าเป็นการพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารด้วย
ฎีกาที่ 4523/2554 คำว่า บิดาหรือผู้ดูแล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 หมายความถึง บิดาหรือผู้ดูแลผู้เยาว์ตามความเป็นจริงด้วย แม้จะเป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครองตามกฎหมายดังกล่าว หากไม่ได้ใช้อำนาจปกครองดูแลผู้เยาว์ก็อาจสิ้นสุดลงได้ และความปกครองดูแลโดยพฤตินัยนั้นก็อาจสิ้นสุดลงได้เช่นกัน
ส.บิดาของผู้เสียหายได้แยกทางกับมารดาของผู้เสียหายและไปมีภริยาใหม่ ไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เสียหายมานาน 7 ปีแล้ว และผู้เสียหายไปอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของ บ.ผู้เป็นยาย ผู้เสียหายจึงมิได้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูและอำนาจปกครองดูแลของ ส.ผู้เป็นบิดาแล้ว ส่วน บ.แม้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูผู้เสียหายอยู่ก่อนเกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุประมาณ 10 กว่าวัน ผู้เสียหายได้หลบหนีออกจากบ้าน บ.ไปอยู่กับ ด.ผู้เป็นพี่สาวและรับจ้างทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ร้านคาราโอเกะซึ่งอยู่ต่างอำเภอกัน ทั้ง บ. ไม่ทราบว่าผู้เสียหายหลบหนีไปอยู่ไหนกับผู้ใดและติดตามหาไม่พบ ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุ 15 ปีเศษแล้ว และเคยออกจากบ้านไปอยู่กินฉันสามีภรรยากับ ป. มาก่อน แสดงว่าผู้เสียหายโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่น้อย พฤติการณ์บ่งชี้ว่าผู้เสียหายสมัครใจหลบหนีออกจากบ้านเจตนาไปทำงานเลี้ยงชีพพึ่งตนเองโดยลำพังไม่ประสงค์จะพึ่งพาอาศัยอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูและในความดูแลของ บ. ผู้เป็นยายอีกต่อไป ผู้เสียหายจึงขาดจากความดูแลของ บ. ผู้เป็นยายแล้ว หาใช่ว่าผู้เสียหายไปจากความดูแลของ บ.เพียงชั่วคราว ไม่ขาดจากอำนาจปกครองดูแลของ ส. ผู้เป็นบิดาและความดูแลของ บ. ผู้เป็นยายไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสี่ถือไม่ได้ว่าเป็นการพรากผู้เสียหายไปเสียจากความปกครองดูแลของบิดาและยายของผู้เสียหาย จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318
ฎีกาที่ 5880/2546 จำเลยกับผู้เสียหายซึ่งมีอายุ 14 ปีเศษรักใคร่กันอย่างชู้สาวมารดาผู้เสียหายก็ทราบและอนุญาตให้จำเลยพาผู้เสียหายออกจากบ้านไปรับประทานอาหารเที่ยวชมภาพยนตร์กันบ้างเพื่อให้จำเลยและผู้เสียหายได้มีโอกาสอยู่ด้วยกัน และทำความรู้จักคุ้นเคยกันเพื่อประโยชน์ของการอยู่กินเป็นสามีภริยากันในวันข้างหน้า และทุกครั้งจำเลยก็จะพากลับมาส่งที่บ้าน อันเป็นการยอมรับในอำนาจการปกครองของบิดามารดาผู้เสียหายอยู่ การที่จำเลยได้ล่วงเกินทางเพศแก่ผู้เสียหายด้วยการกอดจูบรวมทั้งกระทำชำเราผู้เสียหายก็เป็นไปตามโอกาสและตามวิสัยคนรักใคร่ชอบพอกัน ซึ่งจำเลยต้องรับผิดทางอาญาในการกระทำของตนในแต่ละครั้งอยู่แล้วหากการกระทำนั้นเป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ยังไม่พอถือได้ว่าจำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
-
ความรู้กฎหมายโดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์