รูปภาพของadmin advanced law
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรอการลงโทษ
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 1 สิงหาคม 2019, 02:35PM
 
หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรอการลงโทษ

-
จากกรณีที่เป็นข่าว ศาลจังหวัดตลิ่งชันอ่านคำพิพากษาคดีเสี่ยขับเบนซ์ชนรองตี๋และภรรยาเสียชีวิตส่วนบุตรสาวของผู้เสียชีวิตได้รับอันตรายสาหัสนั้น คดีนี้พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี 5 ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดตลิ่งชัน ใน 3 ความผิด ได้แก่ 1. ขับรถด้วยความเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด 2. ขับรถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย และ 3. ขับรถโดยประมาท อันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นควรพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว แต่หลายความผิดจึงลงโทษหนักที่สุดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ จำคุก 6 ปี ปรับ 200,000 บาท แต่จำเลยได้ให้การเป็นประโยชน์ สำนึกผิดและไม่เคยมีประวัติต้องโทษมาก่อน ศาลจึงให้โอกาสกลับตนเป็นคนดีของสังคม จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 3 ปี ปรับ 1 แสนบาท และโทษจำคุกรอลงอาญา 3 ปี โดยระหว่างนี้ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 8 ครั้งใน 2 ปี รวมทั้งบริการสังคมและสาธารณประโยชน์ 48 ชั่วโมงในเวลา 1 ปี พร้อมทั้งห้ามดื่มสุรา และจำเลยจะมอบเงินให้ลูกสาวของผู้ตาย ทั้ง 2 คน คนละ 10,000 บาท ต่อเดือน และค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว 20,000 บาท รวม 40,000 บาท เป็นระยะเวลา 8 ปี จนบรรลุนิติภาวะ


หลายๆคนอาจจะสงสัยว่าหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรอการลงโทษตามกฎหมายนั้น มีอยู่อย่างไร ก่อนอื่นต้องขอให้เข้าใจเจตนารมณ์หรือแนวคิดเกี่ยวกับการรอการลงโทษเสียก่อนว่า การรอการลงโทษนั้นมีแนวความคิดว่าการลงโทษระยะสั้นไม่เป็นประโยชน์และไม่ได้เกิดผลในการแก้ไขผู้กระทำความผิดให้กลับตัวเป็นคนดีได้แล้วยังทำให้กลายเป็นผลเสียคือทำให้ผู้นั้นมีประวัติเสื่อมเสียและยากที่จะกลับตัวมาประกอบสัมมาอาชีพโดยสุจริตต่อไปได้เพราะอาจถูกตีตราจากบุคคลอื่นในสังคมว่าเป็นอาชญากร ทั้งยังจะส่งผลเสียหายแก่บุคคลในครอบครัวหรือผู้อยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของผู้นั้นต้องลำบากขาดที่พึ่งพาทำให้เดือดร้อนทุกข์ยากไปด้วย กฎหมายอาญาจึงหาแนวทางในการใช้วิธีการอื่นแทนการลงโทษจำคุกระยะสั้น ซึ่งหนึ่งในวิธีการนั้นก็คือการรอการลงโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดนั่นเอง ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาพิพากษาโดยกำหนดโทษและรอการลงโทษไว้ได้ ซึ่งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา ปรากฎอยู่ในมาตรา 56


ซึ่งสามารถสรุปหลักเกณฑ์ได้ดังนี้ คือ

1.คดีนั้นเป็นคดีที่ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุกหรือปรับ และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีไม่ว่าจะลงโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตามหรือลงโทษปรับ

2.ปรากฎว่าผู้นั้น
(2.1) ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน หรือ
(2.2) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ
(2.3) เคยรับโทษจำคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจำคุกมาแล้วเกินกว่าห้าปี แล้วมากระทำความผิดอีกโดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
3.เมื่อศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ
ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปรานีแล้ว

4.ศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาว่าผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษหรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นโทษจำคุกหรือปรับอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเพื่อให้โอกาสกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนดแต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาโดยจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้

5.กรณีศาลเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิด ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อตามควรแก่กรณีได้ ดังต่อไปนี้
(5.1) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถามแนะนำ ช่วยเหลือ หรือตักเตือนตามที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพ หรือจัดให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์
(5.2) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(5.3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(5.4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจหรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(5.5) ให้เข้ารับการฝึกอบรม ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(5.6) ห้ามออกนอกสถานที่อยู่อาศัย หรือห้ามเข้าในสถานที่ใดในระหว่างเวลาที่ศาลกำหนดทั้งนี้ จะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางด้วยก็ได้
(5.7) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเยียวยาความเสียหายโดยวิธีอื่นให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้กระทำความผิดและผู้เสียหายตกลงกัน
(5.8) ให้แก้ไขฟื้นฟูหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อมหรือชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการดังกล่าว
(5.9) ให้ทำทัณฑ์บนโดยกำหนดจำนวนเงินตามที่ศาลเห็นสมควรว่าจะไม่ก่อเหตุร้าย หรือก่อให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สิน
(5.10) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก หรือเงื่อนไขในการเยียวยาผู้เสียหายตามที่เห็นสมควร

อย่างไรก็แล้วแต่ แม้ศาลจะกำหนดรอการลงโทษให้ก็ตาม แต่หากผู้กระทำความผิดกระทำผิดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติหรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด หากความปรากฎแก่ศาล ศาลก็มีอำนาจที่จะตักเตือนผู้กระทำความผิด หรือจะกำหนดการลงโทษที่ยังไม่ได้กำหนดหรือจะลงโทษซึ่งรอไว้นั้นก็ได้

ดังนั้น เมื่อผู้กระทำความผิดได้รับโอกาสในการรอการลงโทษเพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้เหมือนเดิมต่อไปแล้ว ก็ขอให้ใช้โอกาสนั้นกลับตัวกลับใจเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม มีสำนึกรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไปด้วย