รูปภาพของadmin advanced law
สาระสำคัญว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
โดย admin advanced law - พุธ, 24 กรกฎาคม 2019, 01:30PM
 

สรุปสาระสำคัญ

พระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562

เนื่องจากในปัจจุบันข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากจึงมีการเห็นควรให้นำกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่มากนักและข้อพิพาททางอาญาบางประเภทมากำหนดเป็นกฎหมายกลางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐพนักงานสอบสวนหรือศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชนใช้ในการยุติหรือระงับข้อพิพาทดังกล่าวได้ ทั้งนี้ด้วยการคำนึงถึงความยินยอมของคู่กรณีเป็นสำคัญ เพื่อให้ปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลลดน้อยลง ช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความสมานฉันท์มากขึ้นในสังคม ลดงบประมาณแผ่นดิน และเสริมสร้างสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 ขึ้นเพื่อเป็นกฎหมายกลางในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

“การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” คืออะไร

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท คือ การดำเนินการเพื่อให้คู่กรณีมีโอกาสเจรจาตกลงกันระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาลและในชั้นการบังคับคดี

ดังนั้น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามพระราชบัญญัติฯ นี้ จึงหมายถึงกระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ในชั้นศาลและชั้นการบังคับคดี เช่น การไกล่เกลี่ยในชั้นของหน่วยงานต่างๆที่ดำเนินการไกล่เกลี่ย หรือในชั้นสอบสวน เป็นต้น

“ผู้ไกล่เกลี่ย” คือใคร

ผู้ไกล่เกลี่ย คือ บุคคลซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ผู้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ยต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

ก. คุณสมบัติ

(1) ผ่านการอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามหลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติรับรอง

(2) เป็นผู้มีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท

ข. ลักษณะต้องห้าม

(1) เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(2) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(3) เคยถูกเพิกถอนการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัตินี้ และยังไม่พ้นห้าปี นับถึงวันยื่นคำขอรับหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ไกล่เกลี่ย

“การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง” ทำได้ในทุกคดีหรือไม่

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่ง ไม่สามารถทำได้ทุกคดี

- คดีทางแพ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ ได้แก่

1) คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล

2) คดีเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว หรือ

3) คดีเกี่ยวกับการพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งให้กระทำได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

1) ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินที่มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์

2) ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก

3) ข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

4) ข้อพิพาทอื่นนอกจาก 1), 2) และ 3) ที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าล้านบาท หรือไม่เกินจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

“การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา” คืออะไร และทำได้ในทุกคดีหรือไม่

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา คือ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนจัดให้คู่กรณีในคดีอาญามีโอกาสเจรจาตกลงหรือเยียวยาความเสียหายเพื่อระงับคดีอาญา

- “คู่กรณี” หมายถึง ผู้ต้องหาและผู้เสียหายในคดีอาญา แต่ไม่หมายความรวมถึงคดีอาญาที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เสียหาย

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ไม่สามารถทำได้ทุกคดี

- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ให้กระทำได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

1) คดีความผิดอันยอมความได้

2) คดีความผิดลหุโทษตามมาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 393 มาตรา 394 มาตรา 395 และมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดลหุโทษอื่นที่ไม่กระทบต่อส่วนรวมตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

3) คดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562

- คดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ตามบัญชีท้ายฯ ได้แก่

(1) ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุนมุนต่อสู้และมีผู้ถึงแก่ความตายจากการชุลมุนต่อสู้นั้น ตามมาตรา 294 วรรคหนึ่ง

(2) ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295

(3) ความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 296

(4) ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุนมุนต่อสู้และมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสจากการชุลมุน

ต่อสู้นั้น ตามมาตรา 299 วรรคหนึ่ง

(5) ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 300

(6) ความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334

- สำหรับคดีความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปีนั้น ต้องเป็นกรณีที่

(1) ผู้ต้องหาไม่เคยได้รับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่เป็นคดีความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท คดีความผิดลหุโทษ ซึ่งพ้นระยะเวลาเกินสามปีนับแต่มีคำสั่งยุติคดี และ

(2) ผู้ต้องหาไม่อยู่ระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหรือพ้นโทษมาแล้วเกินกว่าห้าปี เว้นแต่เป็นคดีความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท คดีความผิดลหุโทษ หรือคดีความผิดที่ผู้ต้องหาได้กระทำในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

หากคู่กรณีต้องการยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในชั้นการสอบสวน จะกระทำได้หรือไม่

- คู่กรณีคนใดคนหนึ่งอาจขอถอนตัวเพื่อยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาในเวลาใดก็ได้

- ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีหลายคน การขอถอนตัวเพื่อยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาของคนใดคนหนึ่งหรือหลายคน ย่อมไม่กระทบการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาของคู่กรณีที่เหลืออยู่ทั้งสองฝ่าย

ผู้ไกล่เกลี่ยจะยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา ได้หรือไม่

ผู้ไกล่เกลี่ยอาจยุติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายไม่เข้าร่วมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาโดยไม่แจ้งหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมีพฤติการณ์ที่ไม่ให้ความร่วมมือในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา

(2) มีเหตุอันควรสงสัยว่าความตกลงนั้นมิได้เป็นไปด้วยความสมัครใจ

(3) การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาไม่อาจบรรลุผลได้โดยแน่แท้

(4) เห็นได้ชัดว่าการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาต่อไปจะเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของคู่กรณีที่เป็นผู้เยาว์

(5) คู่กรณีไม่สามารถเจรจาเพื่อตกลงแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญา หากสำเร็จ มีผลประการใด

- เมื่อคู่กรณีได้มีข้อตกลงเป็นประการใดแล้ว ให้ผู้ไกล่เกลี่ยบันทึกข้อตกลงหรือจัดให้มีการบันทึกข้อตกลงนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และให้คู่กรณีและผู้ไกล่เกลี่ยลงลายมือชื่อไว้ แล้วให้ผู้ไกล่เกลี่ยส่งบันทึกข้อตกลงไปยังพนักงานสอบสวน เมื่อคู่กรณีได้ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงแล้ว ให้แจ้งพนักงานสอบสวนทราบ เพื่อจัดทำบันทึกการปฏิบัติตามข้อตกลง ส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาสั่งยุติคดี เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งยุติคดี สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ

- ในกรณีที่มีการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงไม่ครบถ้วน ให้คู่กรณีแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบเพื่อเสนอพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งพิจารณามีคำสั่งดำเนินคดีต่อไป เว้นแต่ผู้เสียหายพอใจในการปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้กระทำไปแล้ว ให้คู่กรณีแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการส่งไปยังพนักงานอัยการพร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาสั่งยุติคดี

- แต่ถ้าความปรากฏแก่พนักงานสอบสวนว่าคู่กรณีที่เป็นผู้ต้องหาจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่มีเหตุอันควร ให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจออกคำสั่งมีคำสั่งดำเนินคดีต่อไป

-

ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์

-ติวเตอร์ประจำสถาบันสอนเสริมกฎหมาย Advanced Law

-ติวกฎหมาย ป.ตรี ติวเนติฯ ติวทนายความ

-ติวส่วนตัว (PRIVATE TUTOR) , ติวกลุ่มเล็ก

-สถาบันติวกฎหมายแห่งเดียวที่มีการรับรองผลจนสอบผ่านหลักสูตรกฎหมายทุกหลักสูตร

-ติดต่อสอบถาม/ขอคำแนะนำการเรียนกฎหมายได้ฟรีที่

Email : lawyer_ram@hotmail.com

Website : www.law-webservice.com

Facebook : สถาบันสอนเสริมกฎหมาย Advanced Law