ลูกลักทรัพย์พ่อแม่ หรือพ่อแม่ลักทรัพย์ของลูก มีผลทางกฎหมายอาญาเป็นอย่างไร
กฎหมายอาญากำหนดไว้ว่า ในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์,
วิ่งราวทรัพย์, ฉ้อโกง, ยักยอก, ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุก เป็นต้น ถ้าเป็นการกระทำที่ผู้บุพการี
กระทำต่อผู้สืบสันดาน หรือผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการี แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็น
ความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้ และนอกจากนี้ศาลจะลงโทษน้อย
กว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71
วรรคสอง)
โดยปกติแล้วความผิดฐานลักทรัพย์หรือวิ่งราวทรัพย์นั้นเป็นความผิดซึ่งยอมความ
ไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นความผิดต่อแผ่นดิน (เป็นความผิดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยใน
บ้านเมือง) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากผู้กระทำความผิดเป็นผู้สืบสันดานของผู้เสียหาย หรือกรณีผู้เสียหาย
เป็นผู้สืบสันดานของผู้กระทำความผิด กฎหมายก็อนุโลมให้ว่าแม้ความผิดอาญาที่กระทำนั้น
เป็นความที่ยอมความไม่ได้ก็ให้เป็นความผิดอันยอมความได้
ความหมายของคำว่า “ผู้สืบสันดาน” ในที่นี้ หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงเท่านั้น
และในทางกลับกัน “ผู้บุพการี” ก็หมายถึง ผู้บุพการีโดยตรงทางสายโลหิตเช่นเดียวกัน นั่น
หมายความว่า “บุตรบุญธรรม” ไม่อยู่ในความหมายของผู้สืบสันดาน ฉะนั้น หากบุตรบุญธรรม
ลักทรัพย์ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือในทางกลับกัน หากผู้รับบุตรบุญธรรมลักทรัพย์ของบุตร
บุญธรรม ย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายและต้องรับโทษตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นให้เลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 956/2509 คำว่า “สืบสันดาน” ตามพจนานุกรมหมายความว่า
สืบเชื้อสายมาโดยตรง และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586, 1587,1627
แสดงว่า บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะแตกต่างกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม
และผู้รับบุตรบุญธรรมก็มีฐานะต่างกับบุพการีโดยตรงของบุตรบุญธรรมอยู่หลายประการ มาตรา
1586,1627 เป็นบทบัญญัติพิเศษให้สิทธิบางประการแก่บุตรบุญธรรมในทางแพ่งเกี่ยวกับ
สัมพันธ์ทางครอบครัวและมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรมเท่านั้น ต้องใช้โดยเคร่งครัด เฉพาะการ
ตีความถ้อยคำในประมวลกฎหมายอาญาก็ต้องตีความโดยเคร่งครัด จึงหาชอบที่จะนำบท
บัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวมาใช้ตีความคำว่าผู้สืบสันดาน ตามมาตรา
71 วรรคสองไม่ บุตรบุญธรรมจึงไม่ใช่ผู้สืบสันดานกระทำต่อบุพการีตามมาตรา 71 จึงยอม
ความไม่ได้
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์