รูปภาพของadmin advanced law
ลูกจ้างตกลงทำงานให้ 2 ปี หากลาออกก่อนกำหนดยอมใช้ค่าเสียหาย ได้หรือไม่
โดย admin advanced law - พุธ, 18 เมษายน 2018, 11:16AM
 
สัญญาจ้างแรงงาน ระบุข้อตกลงว่าลูกจ้างจะทำงานให้บริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี หากลาออกก่อนกำหนดยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท ข้อตกลงเช่นนี้ใช้บังคับได้หรือไม่

-
ตอบ บังคับได้ ถือว่าเป็นการกำหนดความเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นลักษณะข้อตกลงเบี้ยปรับ ดังนั้น ศาลมีอำนาจปรับลดจำนวนเบี้ยปรับลงได้หากเห็นว่าสูงเกินส่วน แต่ละงดเบี้ยปรับเลยไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้กระทำเช่นนั้นได้
-

ฎ.7620/2559 การที่สัญญาเพิ่มเติมแนบท้ายหนังสือสัญญาจ้าง ข้อ 3 ระบุความว่า พนักงานตกลงที่จะทำงานให้กับบริษัทเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับตั้งแต่วันเข้าทำงาน หากพนักงานมีความประสงค์จะลาออกก่อนครบกำหนดเวลา พนักงานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัทไม่น้อยกว่าเงินเดือนในเดือนสุดท้ายที่พนักงานได้รับ ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงกำหนดความเสียหายเพื่อการผิดนัดไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้า จึงเป็นข้อตกลงเบี้ยปรับเมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และ 380 ซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลแรงงานกลางมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้โดยให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง กล่าวคือศาลแรงงานกลางจะต้องพิเคราะห์ทางได้เสียของจำเลยในฐานะเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย มิใช่เฉพาะความเสียหายที่คำนวณได้เป็นเงินเท่านั้น นอกจากนี้เบี้ยปรับยังเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อลงโทษโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย จึงชอบที่จะพิจารณามูลเหตุการผิดสัญญาของลูกหนี้ว่าเป็นการจงใจกระทำผิดสัญญาเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งด้วยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางจะใช้ดุลพินิจไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยหาได้ไม่เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด ดังนั้นศาลแรงงานกลางจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่จุดมุ่งหมายของข้อสัญญาที่ให้ทำงานครบ 2 ปี ความจำเป็นที่ต้องทำสัญญาไว้เช่นนี้ ความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ต่อจำเลย ความเสียหายอื่นที่มิใช่ทรัพย์สิน รวมตลอดถึงเหตุผลที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างแรงงานว่าเป็นการกระทำไปโดยจงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ใส่ตนเป็นการได้เปรียบกว่าอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่เสียก่อน แล้วใช้ดุลพินิจพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายกำหนดเบี้ยปรับเป็นจำนวนพอสมควร
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร
-ติวเตอร์ประจำสถาบันสอนเสริมกฎหมาย Advanced Law
-ติวกฎหมาย ป.ตรี ติวเนติฯ ติวทนายความ
-ติวส่วนตัว (PRIVATE TUTOR) , ติวกลุ่มเล็ก
-สถาบันติวกฎหมายแห่งเดียวที่มีการรับรองผลจนสอบผ่านหลักสูตรกฎหมายทุกหลักสูตร
-ติดต่อสอบถาม/ขอคำแนะนำการเรียนกฎหมายได้ฟรีที่ Line: 0813404020
Email : lawyer_ram@hotmail.com
Website : www.law-webservice.com
Facebook : สถาบันสอนเสริมกฎหมาย Advanced Law