รูปภาพของadmin advanced law
ผู้เยาว์ฟ้องคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆในศาลด้วยตนเอง ได้หรือไม่
โดย admin advanced law - เสาร์, 6 ธันวาคม 2014, 02:42PM
 
ผู้เยาว์ฟ้องคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆในศาลด้วยตนเอง ได้หรือไม่?
-

คำตอบ คือ ไม่ได้ (ถือว่าบกพร่องในเรื่องความสามารถ) เหตุผล คือ

ป.วิ.แพ่ง มาตรา 56 วรรคหนึ่ง กำหนดเรื่องการดำเนินคดีของผู้ไร้ความสามารถเอาไว้ว่า
"ผู้ไร้ความสามารถหรือผู้ทำการแทนจะเสนอข้อหาต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถและตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ การให้อนุญาตหรือยินยอมตามบทบัญญัติเช่นว่านั้น ให้ทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวนความ"

ผู้ไร้ความสามารถ ตามมาตรา 56 มีความหมายอยู่ในมาตรา 1(12) ซึ่งมีความหมายอย่างกว้าง จึงหมายความรวมถึง ผู้เยาว์ , คนไร้ความสามารถ และ คนเสมือนไร้ความสามารถ

ดังนั้น การเสนอข้อหาหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆในศาล จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยความสามารถ ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1.กรณีผู้เยาว์ : ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ดังนั้น บิดามารดาย่อมเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ การฟ้องและการดำเนินคดีของผู้เยาว์ต้องกระทำการแทนโดยผู้แทนโดยชอบธรรม

ฎีกาที่ 623/2519 (ประชุมใหญ่) โจทก์เป็นผู้เยาว์ฟ้องคดีเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยซึ่งทำละเมิดให้มารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมเข้ามาดำเนินคดีแทน ก็เป็นแต่บกพร่องเรื่องความสามารถที่แก้ไขได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 56 ไม่ใช่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแต่อย่างใด แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ชั้นฎีกา โจทก์บรรลุนิติภาวะแล้ว ย่อมไม่ต้องแก้ไขข้อบกพร่องเรื่องความสามารถอีก โจทก์มีอำนาจดำเนินคดีต่อไปได้

**ข้อสังเกต ผู้เยาว์ฟ้องคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลด้วยตนเอง เป็นเพียงเรื่องของการบกพร่องในเรื่องความสามารถเท่านั้น ไม่ใช่ผู้เยาว์ไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น ศาลจึงต้องมีคำสั่งให้แก้ไขเรื่องความสามารถเสียก่อน ตามมาตรา 56 วรรคสอง ฉะนั้น ศาลจะด่วนยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ได้ (ดูเพิ่มเติมในฎีกาที่ 2464/2547, 2741/2532, 3184/2550, 516/2551)

2.กรณีคนไรัความสามารถ : ย่อมอยู่ในความอนุบาลของผู้อนุบาล ดังนั้น การฟ้องและ
การดำเนินคดีของคนไร้ความสามารถต้องกระทำการแทนโดยผู้อนุบาล

3.กรณีคนเสมือนไร้ความสามารถ : ย่อมอยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ และสามารถฟ้องคดีและดำเนินคดีได้ด้วยตนเอง แต่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ (ผู้พิทักษ์ไม่มีอำนาจกระทำการแทน แต่มีอำนาจเพียงให้ความยินยอมเท่านั้น) หนังสือให้ความยินยอมให้ยื่นต่อศาลเพื่อรวมในสำนวนความด้วย

ฎีกาที่ 905/2523 บุคคลผู้เสมือนไร้ความสามารถนั้นทำนิติกรรมเองได้สิ่งทุกสิ่งทุกอย่าง
เว้นแต่จะต้องด้วยข้อจำกัดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 35 ซึ่งผู้เสมือนไร้ความสามารถจะทำได้เฉพาะเมื่อผู้พิทักษ์ให้ความยินยอมเท่านั้น ผู้พิทักษ์มีอำนาจหน้าที่เพียงแต่ให้ความยินยอมหรือไม่แก่ผู้เสมือนไร้ความสามารถในกิจการที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ให้อำนาจผู้พิทักษ์ฟ้องคดีแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถ ผู้พิทักษ์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสมือนไร้ความสามารถ