รูปภาพของadmin advanced law
มัดจำ กับ เบี้ยปรับ เหมือนหรือต่างกัน อย่างไร
โดย admin advanced law - อังคาร, 13 พฤษภาคม 2014, 12:52PM
 
มัดจำ กับ เบี้ยปรับ เหมือนหรือต่างกัน อย่างไร
-
มัดจำ คือ สิ่งที่ได้ให้ไว้เมื่อเข้าทำสัญญา ซึ่งเมื่อได้ให้มัดจำไว้แล้วก็เป็นหลักฐานว่าได้ทำสัญญาขึ้นแล้ว
และเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญานั้น (ป.พ.พ.มาตรา 377)

ดังนั้น สิ่งใดหากได้ให้ไว้เมื่อเข้าทำสัญญาย่อมเป็นมัดจำ แต่หากให้ในวันอื่นหรือหลังจากเข้าทำสัญญา
แม้จะกำหนดให้เรียกว่ามัดจำ ก็ไม่ใช่มัดจำตามกฎหมาย

มัดจำ จะเป็นเงิน หรือทรัพย์สินอื่นก็ได้ เช่น เป็นเช็คก็ได้ เป็นสัญญากู้ยืมก็ได้ เป็นต้น
มัดจำ หากต้องริบ และหากมีจำนวนสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนที่สมควรได้
ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 7
-

เบี้ยปรับ คือ การตกลงค่าเสียหายล่วงหน้ากรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดหรือผิดสัญญา ซึ่งการกำหนดเบี้ยปรับ
จะอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ เช่น เป็นเงินค่าปรับ, เป็นสิ่งของหรือทรัพย์สินอื่นๆ ก็ได้

เบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนที่สมควรได้ (ป.พ.พ.มาตรา 383)
-

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3216/2554

เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียวเพราะไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์
ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนา
ที่ดินให้ถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกโดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อยินยอมให้จำเลยผู้จะขาย
ริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดเช่นนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่ง
ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์
ทั้งสองชำระเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง ถือว่าเงินจำนวนนี้
เป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นพยานหลักฐาน และเป็นการ
ประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นมัดจำ
ส่วนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระอีกจำนวน
32,500 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน ตามสัญญาดังกล่าว
ระบุให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ทั้งสอง
ชำระค่าที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินตามสัญญา มิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกัน
การปฏิบัติตามสัญญา จึงมิใช่ค่ามัดจำ
ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา
และสัญญาเป็นอันยกเลิกแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาทได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2)

โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดิน ค่าจ้างปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้วและค่าต่อเติม
บ้านหลังจากที่จำเลยมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาท แล้ว เป็นเงิน 606,897
บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จำเลยจะต้องให้โจทก์ทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
แต่การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันว่าถ้าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา
สัญญาเป็นอันยกเลิก โจทก์ทั้งสองยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด
ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ
ที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ.
มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวน
พอสมควรได้
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
-

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8942/2554

เงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้น เป็นการให้เพื่อ
เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อจะขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา
โดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ หรือหากโจทก์ละเลยไม่ชำระหนี้
ก็ให้ริบเงินนั้นได้ตามสัญญา เงินจำนวนนี้จึงเป็นมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ เพราะเบี้ยปรับเป็นกรณีที่ลูกหนี้
สัญญาจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อตนไม่ชำระหนี้อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเอาไว้ล่วงหน้าเท่านั้น
คู่สัญญามิได้มีเจตนาให้เอาเบี้ยปรับเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ แม้ตาม ป.พ.พ. มิได้ให้
อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับ แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540
มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ
ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ โดยบทกฎหมายดังกล่าว
เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งให้ศาลพิจารณาตามที่เห็นสมควรหากมัดจำสูงเกินส่วน
ศาลจึงมีอำนาจลดมัดจำได้