รูปภาพของadmin advanced law
แค่ใช้เท้าถีบ แตะ และกระทืบเท่านั้น แต่ใครใช้มีดแทงไม่รู้ เช่นนี้เราจะรับผิดแค่ไหน?
โดย admin advanced law - พุธ, 30 เมษายน 2014, 04:00PM
 
การรับผิดในผลของการกระทำนั้น ผู้กระทำย่อมต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตน
แต่ผลที่จะต้องรับผิดนั้นจะต้องเป็นผลโดยตรงจากการกระทำและต้องเป็นผลธรรมดาที่ย่อมเกิดขึ้นได้
จากการกระทำของตน
ดังนั้น หากผลที่เกิดไม่ใช่ผลโดยตรงหรือผลธรรมดาที่ย่อมเกิดขึ้นได้ ผู้กระทำย่อมไม่ต้องรับผิดในผลนั้น
ฎีกาที่ 235-237/2555
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 พบผู้เสียหายโดยบังเอิญขณะผู้เสียหาย
ไปที่เกิดเหตุเพื่อรับ ป. กลับบ้าน แล้วจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รุมถีบ เตะและ
กระทืบผู้เสียหายทันที จากนั้นจึงมีชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งเข้ารุมเตะและกระทืบ
ผู้เสียหาย และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ลากผู้เสียหายไปรุมเตะ และกระทืบอีกที่บริเวณ
ข้างบ้านเลขที่ 35 โดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายถูกอาวุธมีดแทงขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2
และที่ 3 เข้ารุมทำร้ายในตอนแรกหรือหลังจากชาวบ้านเข้าร่วมรุมทำร้ายและ จึงฟัง
ไม่ได้ว่าการใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
ทั้งการที่ชาวบ้านเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายด้วยนั้นก็ไม่ได้มีการสมคบหรือนัดหมาย
กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มาก่อน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจเล็งเห็น
หรือคาดหมายได้ว่าพวกที่เข้าร่วมรุมทำร้ายผู้เสียหายดังกล่าวจะมีอาวุธมีด พฤติการณ์
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เพียงแต่ใช้เท้าถีบเตะกระทืบผู้เสียหาย ยังไม่พอฟังว่า
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาฆ่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คงมีเพียงเจตนา
ทำร้าย การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันพยายาม
ฆ่าผู้อื่น
ผู้เสียหายถูกอาวุธมีดแทงที่บริเวณท้อง แพทย์ให้การรักษาโดยผ่าตัด หลังจาก
ออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องไปรักษาตัวต่อที่บ้านโดยต้องนอนพักประมาณ 2 เดือน
ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลหรือศพของแพทย์ระบุว่า ได้ผ่าตัดเย็บซ่อมลำไส้
และจุดที่มีเลือดออก บาดแผลจะหายในเวลา 3 สัปดาห์ หากไม่มีสาเหตุแทรกซ้อน
แสดงว่าเหตุที่ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสเพราะต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา
เกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันนั้น เกิดจาก
การที่ผู้เสียหายถูกอาวุธมีดแทง ไม่ได้เกิดจากการรุมถีบ เตะและกระทืบของจำเลย
ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ดังนั้น การที่ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสจึงไม่ได้เป็นผลโดยตรง
จากการร่วมกันทำร้ายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และไม่ได้เป็นผลที่ตามธรรมดา
ย่อมเกิดขึ้นได้จากการร่วมกันทำร้ายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 การกระทำของจำเลย
ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส