ฟ้องแย้ง คืออะไร? - คำตอบ คือ ฟ้องแย้งก็คือคำฟ้องอย่างหนึ่งนั่นเอง แต่เป็นคำฟ้องที่ฟ้องมาในคำให้การ เนื่องจาก ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม กำหนดว่า จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้อง เป็นคดีต่างหาก - เมื่อฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1(3) จำเลยซึ่งฟ้องแย้งจะต้องมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ด้วย คือ ต้องมีการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ทางแพ่งกัน และฟ้องแย้งต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม (ดูฎีกา ที่ 64/2555 )
ฎีกาที่ 64/2555
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยโดยอ้างว่าจำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำในที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย หากข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินเป็นของโจทก์ จำเลยก็จะต้องรื้อถอนบ้านส่วนที่รุกล้ำออกไปและไม่อาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ อ้างว่าโจทก์ขัดขวางห้ามปรามการก่อสร้างต่อเติมบ้านของจำเลย หากข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินเป็นของจำเลย จึงจะมีข้อพิจารณาต่อไป ว่าการที่โจทก์ขัดขวางห้ามปรามการก่อสร้างต่อเติมบ้านจำเลย จะเป็นละเมิดและมีความเสียหายต่อจำเลยหรือไม่เพียงใด ความเสียหาย ตามฟ้องแย้งของจำเลยจะเกิดมีขึ้นได้ก็โดยอาศัยผลคดีนี้เป็นสำคัญหากยังไม่ปรากฏผลคดีนี้ข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงยังไม่เกิดขึ้น จำเลยยังไม่อาจนำคดีมาฟ้องได้ ฟ้องแย้งของจำเลยเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ซึ่งถือว่าไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
ฎีกาที่ 2504/2554
โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 พร้อมเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1523 ซึ่งเป็นเรื่องการสิ้นสุดแห่งการสมรส ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์เอาความเท็จมาฟ้องร้องดำเนินคดี แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตและการที่โจทก์ไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน ทางวินัยและหากคณะกรรมการหลงเชื่อจะทำให้จำเลยที่ 2 ถูกออกจากงานและเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็น คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้แต่เป็นการอ้างการกระทำ อีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและ วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 |