ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่วิกลจริต
-
ความหมายในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 คำว่า "วิกลจริต" หมายความว่า มีความประพฤติหรือกิริยาผิดปกติเพราะสติวิปลาส ซึ่งคำว่า "สติ" หมายความว่า ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, ความรู้สึกผิดชอบ ส่วนคำว่า "วิปลาส" หมายความว่า คลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ
ดังนั้นคำเรียกที่ว่า "คนวิกลจริต" จึงเป็นคำเรียกกว้าง ๆ ที่แสดงถึงบุคคลที่มีอาการหรือการแสดงออกแตกต่างจากคนปกติทั่วไปเพราะมีความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกผิดชอบแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป มีสภาพทางจิตผิดปกติไปจากบุคคลทั่วไป
คำว่า "วิกลจริต" เป็นคำที่มีปรากฎอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย
สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องในทางอาญา มีหลักการสำคัญในการคุ้มครองผู้กระทำความผิดที่เป็นผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตหรือคนวิกลจริตไว้ว่าในการดำเนินคดีอาญาจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยมีความสามารถที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ด้วย เพราะความบกพร่องทางจิตหรือสภาวะที่ไม่สมประกอบทางจิตของผู้กระทำความผิดเป็นเหตุบกพร่องที่บุคคลนั้นแตกต่างจากบุคคลธรรมดาทั่วไป ย่อมไม่อาจนำมาตรฐานการลงโทษสำหรับบุคคลปกติทั่วไปมาใช้บังคับกับคนวิกลจริตได้เพราะจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายและบังคับโทษที่ไม่เป็นไปตามหลักความเสมอภาคเพราะคนวิกลจริตมีสภาวะที่ผิดปกติไปจากบุคคลปกติทั่วไป
ดังนั้นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีอาญาและการลงโทษบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งวิกลจริต จึงเป็นไปตามกฎหมายดังต่อไปนี้
1.การสั่งให้แพทย์ตรวจ
ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาลแล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้น เสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำ หรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 วรรคหนึ่ง
2.การงดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา และการสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว
ซึ่งหากในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร โดยในกรณีที่ศาลสั่งงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาดคีนั้นศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 วรรคสองและวรรคสาม
3.การไม่ต้องรับโทษ หรือ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่มาตรา 65 วรรคสอง กำหนดว่าถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
4.การทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุวิกลจริตจะหมดไป
หากจำเลยซึ่งวิกลจริตถูกลงโทษจำคุกอาจมีการขอให้ทุเลาการจำคุกได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ที่กำหนดว่า เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำหรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อจำเลยวิกลจริต (2) ...
5.การทุเลาการประหารชีวิตไว้ก่อนจนกว่าผู้นั้นจะหายวิกลจริต
ถ้าบุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตเกิดวิกลจริตก่อนถูกประหารชีวิต ให้รอการประหารชีวิตไว้ก่อนจนกว่าผู้นั้นจะหาย
ในขณะทุเลาการประหารชีวิตอยู่นั้น ถ้าศาลเห็นว่าการปล่อยตัวผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งไม่ต้องรับโทษหรือได้รับการลดโทษจะเป็นการไม่ปลอดภัยแก่ประชาชน ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลก็ได้ และคำสั่งนี้ศาลจะเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 248 วรรคหนึ่งประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 48
6.ลดโทษประหารชีวิตเหลือจำคุกตลอดชีวิต
กรณีที่มีการทุเลาการประหารชีวิตไว้และผู้วิกลจริตนั้นหายภายหลัง 1 ปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด ก็ให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 248 วรรคสอง
-
ความรู้กฎหมายโดยอาจารย์เกด ศิวาพร คารวนันท์
- ติวเตอร์ประจำสถาบันสอนเสริมกฎหมาย Advanced Law
- ติวกฎหมาย ป.ตรี ติวเนติฯ ติวทนายความ ติวส่วนตัว (PRIVATE TUTOR) , ติวกลุ่มเล็ก
- ติดต่อสอบถาม/ขอคำแนะนำการเรียนกฎหมายได้ฟรีที่ Email : lawyer_ram@hotmail.com
Facebook : สถาบันสอนเสริมกฎหมาย Advanced Law
Website : www.advancedlaw9.com