รูปภาพของadmin advanced law
การครอบครองปรปักษ์
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 11 มกราคม 2024, 04:33PM
 
การครอบครองปรปักษ์ (ป.พ.พ.มาตรา 1382)
-
- หลักเกณฑ์ การครอบครองปรปักษ์ คือ
1.ต้องครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น (ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น)
2.ทรัพย์สินนั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์ (มีกรรมสิทธิ์เท่านั้นไม่รวมสิทธิครอบครอง)
3.ต้องครอบครองโดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
4.ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี

- ข้อสังเกต

- ที่ดินมีโฉนด(มีกรรมสิทธิ์)เท่านั้น ที่ครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนที่ดิน น.ส.3.ก.(มีสิทธิครอบครอง) ไม่สามารถครอบครองปกปักษ์ได้เพราะเป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองไม่มีกรรมสิทธิ์ ดังนั้น หากครอบครองที่ดินที่ยังไม่มีโฉนด จะเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ก็ต่อเมื่อที่ดินได้มีการออกโฉนดแล้ว

ฎ.2270/2554 การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา1382 จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่

- ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดิน ไม่อาจครอบครองปรปักษ์ได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกัน ผู้ที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิดีกว่า

ฎ.8419/2550 ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน ผู้ใดย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองใช้ยันต่อรัฐได้และยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนจึงยังเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แต่ผู้ที่ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ย่อมมีสิทธิดีกว่าผู้อื่น

- การครอบครองปรปักษ์ ต้องเป็นการปรปักษ์ในที่ดินผู้อื่น หากที่ดินเป็นของผู้ครอบครองอยู่แล้วย่อมไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้

ฎ.292/2552 ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น บัญญัติว่า “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น...ฯลฯ...” คำว่าผู้อื่นตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นผู้ใดก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ผู้ครอบครองปรปักษ์เอง ดังนั้น การครอบครองปรปักษ์จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองข้างในคำให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน จึงไม่อาจมีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์

- ทรัพย์สินทางปัญหา เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ จึงครอบครองปรปักษ์ไม่ได้

ฎ.9544/2542 เครื่องหมายการค้าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างหนึ่งไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ไม่มีรูปร่าง ทั้งไม่อาจยึดถือครอบครองได้อย่างทรัพย์สินทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. บรรพ 4 ว่าด้วยทรัพย์สิน การที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าอักษรโรมัน คำว่า PEAK และ PEAK กับรูปประดิษฐ์คล้ายภูเขาของผู้อื่นมาใช้กับสินค้าของตนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของแม้เป็นระยะเวลานานเพียงใดก็ไม่ทำให้จำเลย มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าโจทก์ได้ บทบัญญัติว่าด้วยการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาอาจนำมาใช้บังคับแก่สิทธิในเครื่องหมายการค้าอันเป็นทรัพย์สินทางปัญญาได้ไม่
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์