รูปภาพของadmin advanced law
เรียกค่าว่าความ โดยคิดราคาจากทรัพย์ที่จะได้มาจากการชนะคดี ได้หรือไม่?
โดย admin advanced law - พุธ, 24 เมษายน 2013, 08:44PM
 
Q: เรียกค่าว่าความ โดยคิดราคาจากทรัพย์ที่จะได้มาจากการชนะคดี ได้หรือไม่?

คำตอบ คือ ไม่ได้ ข้อตกลงเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ.มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810/2554

ค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับตามบันทึกคำมั่นจะให้รางวัลเกิดจากการว่าความให้จำเลยทั้งสามจนชนะคดี
จึงเป็นการกำหนดค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากค่าจ้างว่าความปกติตามสัญญาว่าจ้างว่าความ แม้จำเลย
ทั้งสามทำบันทึกให้โจทก์หลังจากทำสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวแล้วก็ตาม ก็ไม่มีผลลบล้างลักษณะของนิติกรรมที่
จำเลยทั้งสามทำไว้แก่โจทก์ และแม้จะใช้ถ้อยคำว่าคำมั่นจะให้รางวัล ก็ไม่อาจบังคับตามตามประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ มาตรา 362 ได้ คำมั่นจะให้รางวัลดังกล่าว จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับค่าจ้างว่าความอีกส่วนหนึ่ง
ค่าตอบแทนตามบันทึกจะให้รางวัลซึ่งเป็นค่าจ้างว่าความที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยทั้งสามขึ้นอยู่กับจำเลย
ทั้งสามจะได้รับทรัพย์มรดกเกินกว่า 80,000,000 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ได้รับทรัพย์มรดกหรือได้รับไม่เกินกว่า
80,000,000 บาท โจทก์ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยทั้งสาม มีลักษณะที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความเข้าไป
มีส่วนได้เสียทางทรัพย์สินในผลแห่งคดีของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นลูกความไม่เหมือนกับสัญญาจ้างว่าความที่ทนายความ
พึงได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนเงินตายตัวหรือร้อยละของทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลของคดีว่าจะชนะคดี
หรือแพ้คดีอย่างไร แม้ไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย แต่เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพทนายความ
เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6919/2544

การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตกลงให้เงินรายละ 400,000 บาทและ จำเลยที่ 4 ตกลงให้เงินจำนวน 300,000 บาทแก่โจทก์
เป็นค่าทนายความนั้น หมายถึงกรณีที่ฝ่ายจำเลยชนะคดีมรดกแล้วไม่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นที่ดินแต่ได้รับส่วนแบ่งมาเป็นเงิน
ที่ได้มาจากการขายที่ดินพิพาทนั่นเอง ซึ่งจำเลยทั้งสี่จะต้องแบ่งให้โจทก์ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ในบันทึกข้อตกลง บันทึก
ข้อตกลงจึงถือได้ว่าเป็นสัญญารับจ้างว่าความโดยวิธีแบ่งเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความ
เมื่อจำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกความชนะคดีเท่านั้น หากจำเลยทั้งสี่ตกเป็นฝ่ายแพ้คดี โจทก์ย่อมไม่ได้รับส่วนแบ่งตามข้อตกลง
อันมีลักษณะเข้าทำนองซื้อขายความกัน

วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะผูกขาดที่ผู้ที่เป็นทนายความได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหลายประการ
ผู้ที่ได้จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความจึงมีพันธกรณีต่อสังคมที่จะต้องปฏิบัติและดำรงตนให้ต้องด้วย
หลักจริยธรรมทางวิชาชีพ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความในฐานะที่ทนายความมีส่วนสำคัญในการจรรโลง
ความยุติธรรมในสังคมทนายความจึงไม่พึงทำสัญญากับลูกความของตนในลักษณะที่ตนเองเข้าไปมีส่วนได้เสียโดยตรงในคดี
จนกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ข้อสัญญาที่ให้ทนายความเข้าไปมีส่วนได้เสียในผลคดีโดยตรงในทำนอง
ซื้อขายความกันย่อมไม่ต้องด้วยหลักจริยธรรมทางวิชาชีพทนายความ ถือว่าเป็นข้อสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและ
ศีลธรรมอันดีของประชาชน

แม้ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความฯ ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. ทนายความฯ จะมิได้กำหนดให้
การเข้าเป็นทนายความโดยวิธีสัญญาเอาส่วนจากทรัพย์สินที่เป็นมูลพิพาทอันจะพึงได้แก่ลูกความของทนายความเป็นการประพฤติ
ผิดมรรยาททนายความเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ.2477 และพ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ. 2508 ก็มีผลเพียงว่าการทำสัญญา
ระหว่างทนายความกับลูกความทำนองนี้ไม่เป็นการประพฤติผิดมรรยาททนายความอันเป็นมูลให้ลงโทษตามมาตรา 52 เท่านั้น
หามีผลทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่ดังกล่าว ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนกลับมี
ความสมบูรณ์แต่อย่างใดไม่ สัญญาจ้างว่าความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150