รูปภาพของadmin advanced law
กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17382/2557 คดีทางการแพทย์
โดย admin advanced law - เสาร์, 18 มีนาคม 2023, 07:29PM
 
กรณีศึกษาจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17382/2557
-
 ฎีกาที่ 17382/2557 จําเลยที่ 1 เป็นกรมในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและมีฐานะ
เป็นนิติบุคคล เป็นผู้กํากับดูแลโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี จําเลยที่ 2 รับราชการเป็นแพทย์
ประจําโรงพยาบาลดังกล่าว ตําแหน่งหัวหน้างานศัลยกรรมตกแต่งและศูนย์ดูแลผู้ป่วยไฟไหม้ น้ำ
ร้อนลวก โจทก์ติดต่อใช้บริการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีกับจําเลยที่ 2 เพื่อทําศัลยกรรม
ใบหน้าให้บริเวณคางเล็กลง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2542 จําเลยที่ 2 ทําการผ่าตัด
ศัลยกรรมให้โจทก์ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โดยลดกระดูกโหนกแก้ม และกระดูกขากรรไกร
ล่างบริเวณมุมคางทั้งสองข้าง แต่ปรากฏว่ากระดูกขากรรไกร (กระดูกกราม) ด้านขวาของโจทก์
แตกร้าว หลังการผ่าตัดโจทก์มีปัญหาสบฟันและเกิดหนอง จําเลยที่ 2 ทําการผ่าตัดรักษาให้
โจทก์อีกหลายครั้งแต่อาการไม่ดีขึ้น ต่อมาโจทก์ไปรับการรักษากับทันตแพทย์ที่คณะทันตแพทย์
ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทําการผ่าตัดเอากระดูกที่แตกร้าวออกแล้วตัดกระดูกซี่โครง
ของโจทก์ไปใส่แทน
ปัญหาประการแรกที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจําเลยทั้งสองมีว่า จําเลยที่ 2 กระทํา
ละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้จําเลยทั้งสองฎีกาว่า จําเลยที่ 2 ทําการรักษาโจทก์ถูกต้อง
ตามหลักการแพทย์แล้ว ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง... ฯลฯ... น่าเชื่อตาม
ที่โจทก์เบิกความ การที่จําเลยไม่ใช้ลวดยึดตรึงฟันบนและฟันล่างของโจทก์ เพื่อป้องกันไม่ให้ฟัน
และกระดูกขากรรไกรเคลื่อน ทั้งไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด โดยที่ไม่
ปรากฏว่ามีเหตุสมควรประการใดจึงไม่ดําเนินการดังกล่าวเสียตั้งแต่ต้น เพิ่งมาดําเนินการมัดฟัน
บนและฟันล่างเข้าด้วยกันเพื่อป้องกันมิให้กระดูกขากรรไกรเคลื่อนเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2542
หลังจากผ่าตัดศัลยกรรมโจทก์นานถึง 22 วัน เมื่อพบว่าการสบฟันของโจทก์เอียงไปข้างขวา
แล้ว เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแทนที่จะป้องกันปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งเลือกใช้วิธีที่ได้ผลในการ
รักษาต่ำกว่า ถือว่าเป็นการรักษาที่ผิดวิธี ทําให้เกิดการอักเสบ มีหนอง และเกิดปัญหาอื่นที่
ต้องแก้ไขตามมาทั้งปัญหาการสบฟันผิดปกติ อาการชาบริเวณคาง เหงือก ฟันล่างถอยร่น ริม
ฝีปากเบี้ยว ฟันกรามด้านซ้ายล้ม ฟันกรามด้านขวาโยกคลอน 4 ซี่ ถูกถอนไปแล้ว 1 ซี่
รวมทั้งอาการตาค้าง เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากความบกพร่องไม่ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและ
พฤติการณ์ที่จําเลยที่ 2 แพทย์ผู้ทําหน้าที่ผ่าตัดศัลยกรรมพึงปฏิบัติในการผ่าตัดโดยตรง มิใช่
เกิดจากโจทก์ไม่ปฏิบัติตัวและไม่รักษาความสะอาดให้ถูกวิธีตามคําสั่งของจําเลยที่ 2 หรือไม่ไป
พบแพทย์ตามนัดดังที่จําเลยทั้งสองฎีกา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจําเลยที่ 2 ทําให้
โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่าจําเลยที่ 2 กระทําละเมิดต่อโจทก์ ถึงแม้โจทก์จะลงชื่อให้
ความยินยอม ตามหนังสือยินยอมให้ทําการรักษาเอกสารหมาย ล.1 ว่า หากโจทก์ได้รับ
อันตรายเนื่องจากการรักษา โจทก์จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องดําเนินคดี ในทางอาญาและทาง
แพ่งแก่เจ้าหน้าที่และส่วนราชการเจ้าสังกัดของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีก็เป็นเรื่องความยินยอม
ให้จําเลยที่ 2 กระทําการผ่าตัดศัลยกรรมตามแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง คือถูกต้องตาม
มาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์โดยใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อย่างผู้มีวิชาชีพแพทย์
พึงปฏิบัติต่อผู้รับการรักษา มิได้กินความถึงการรักษาที่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยจงใจ หรือ
ประมาทเลินเล่อด้วย เมื่อฟังได้ว่าจําเลยที่ 2 ผ่าตัดศัลยกรรมให้แก่โจทก์โดยประมาทเลินเล่อ
ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จําเลยทั้งสองจะอ้างความยินยอมเป็นข้อยกเว้นหรือจํากัดความ
รับผิดเพื่อละเมิดมิได้....
พิพากษา ให้จําเลยที่ 1 ชําระเงิน 1,082,850 บาท พร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
นับแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระ เสร็จแก่โจทก์
-
หมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17382/2557
 ในคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 คือกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และจำเลยที่ 2
แพทย์ผู้ทำการศัลยกรรมใบหน้า เมื่อแพทย์ทำการรักษาดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์
ได้รับความทุกข์ทรมานทางจิตใจจากใบหน้าที่ไม่เรียวลงและสวยงามอย่างที่คาดหวัง จึงไม่อยาก
ออกไปพบปะผู้คน ขาดความมั่นใจในตัวเอง ชอบเก็บตัวไม่กล้าออกไปรับประทานอาหาร
นอกบ้าน เสียใจเมื่อเห็นใบหน้าตัวเอง รู้สึกท้อแท้และหมดสิ้นทุกอย่าง ถือว่าส่งผลกระทบต่อการ
ดําเนินชีวิตตามปกติของโจทก์เป็นอย่างมาก ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ตามสมควร
 กรณีตามคำพิพากษานี้ จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้
ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ในฐานะหน่วยงานของรัฐมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเอาเงิน
ที่จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ต่อไป
 มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการให้การต่อสู้คดีของจำเลยว่า โจทก์ได้ลงชื่อให้ความยินยอม
ตามหนังสือยินยอมให้ทําการรักษาเอกสารหมาย ล.1 ว่า หากโจทก์ได้รับอันตรายเนื่องจากการรักษา
โจทก์จะไม่เรียกร้องหรือฟ้องร้องดําเนินคดี ในทางอาญาและทางแพ่งแก่เจ้าหน้าที่และส่วนราชการ
เจ้าสังกัดของโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี นั้น ศาลฎีกาได้อธิบายความยินยอมดังกล่าว ว่าเป็นเรื่อง
ความยินยอม ให้จําเลยที่ 2 กระทําการผ่าตัดศัลยกรรมตามแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง คือถูกต้อง
ตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์โดยใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อย่างผู้มีวิชาชีพแพทย์
พึงปฏิบัติต่อผู้รับการรักษา
เมื่อจำเลยที่ 2 ผ่าตัดศัลยกรรมให้แก่โจทก์โดยประมาทเลินเล่อ ก่อให้เกิดความเสียหาย
แก่โจทก์ จําเลยทั้งสองจะอ้างความยินยอมเป็นข้อยกเว้นหรือจํากัดความรับผิดเพื่อละเมิดไม่ได้
ดังนั้น แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และสถานพยาบาล ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่
ให้เป็นไปตามมาตรฐานของวิชาชีพ หากประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหาย อาจต้องรับผิด
ชดใช้ค่าเสียหายตามกรณีศึกษาในคดีนี้
-
หมายเหตุโดย: ดร.พิชัย โชติชัยพร ผู้จัดการโครงการ "เรียนกฎหมายอย่างง่าย Easy Law"
สอบถามรายละเอียดโครงการ หรือปรึกษาเรื่องการศึกษากฎหมายได้ที่ Line: 0862310999
-
อ่านคำพิพากษาฉบับยาวได้ที่ www.lawwebservice.com/learning
ในห้องเรียนกฎหมายการแพทย์
-