ว่าด้วยเรื่อง "หมิ่นประมาท"
หมิ่นประมาท คืออะไร ผิดกฎหมายใด มีโทษอย่างไร
- การหมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง
- หมิ่นประมาทผู้อื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
- มีอัตราโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ
ใส่ความ คืออะไร
- ใส่ความ คือ การยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งอาจเป็นความจริงหรือเป็นความเท็จก็ได้ แม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินมาให้คนอื่นฟังก็อยู่ในความหมายของคำว่า “ใส่ความ” (ฎีกาที่380/2503 )
- การใส่ความไม่จำกัดวิธีการ อาจเป็นใส่ความด้วยคำพูด ด้วยการให้ความหมาย หรือด้วยการแสดงกิริยาอาการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือใช้ภาษาใบ้ ใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น การแอบถ่ายภาพคนที่ร่วมประเวณีกันแล้วนำภาพไปให้คนอื่นดู ก็เป็นหมิ่นประมาท เพราะการใส่ความไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูด การเอาภาพให้ดูย่อมเป็นการใส่ความและน่าจะทำให้เสียชื่อเสียงได้ เป็นต้น
- การใส่ความที่กระทำโดยการโฆษณา (หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา) ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท (สองแสนบาท)
การด่าด้วยคำหยาบคาย เป็นหมิ่นประมาทหรือไม่
- หมิ่นประมาท ต้องเป็นการใส่ความในข้อเท็จจริงและเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปได้ หากเป็นเพียงคำหยาบคายหรือข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ ย่อมไม่เป็นการหมิ่นประมาท
- คำด่า เช่น "ไอ้เหี้ย" "ไอ้สัตว์" "ไอ้เปรต" "ไอ้ชาติหมา" "ไอ้ควาย" "ไอ้ฉิบหาย" เป็นแค่เพียงคำหยาบคายเท่านั้น แต่แม้จะไม่ผิดหมิ่นประมาท การด่าด้วยคำหยาบคายเหล่านี้เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ได้
จะพูดยังไงไม่ให้ผิดหมิ่นประมาท
- กฎหมายบัญญัติข้อยกเว้นของความผิดฐานหมิ่นประมาทไว้ในมาตรา 329 ว่า การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ในกรณีต่อไปนี้ ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่้นประมาท
- (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน ตามคลองธรรม
- (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
- (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
- (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
- การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดสุจริต ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครอง ย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
- “เพื่อความชอบธรรม” หมายถึง เพื่อความถูกต้อง
- “ป้องกันตนตามคลองธรรม” หมายความถึง ป้องกันเกี่ยวกับชื่อเสียง หรือประโยชน์ของตนตามวิธีที่ชอบให้พ้นภัย เป็นการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตน ไม่ให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชังอันเนื่องจากการกระทำของคนอื่น
- “ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม” หมายถึง ป้องกันไปถึงประโยชน์ส่วนได้เสียที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับตนให้พ้นภัย เช่น อาจมีส่วนได้เสียเพราะเป็นเครือญาติ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือข้าราชการที่ร่วมงานอยู่ในที่เดียวกัน เป็นต้น
- “การติชมด้วยความเป็นธรรม” หมายถึง การกล่าวด้วยความเข้าใจว่าถูกต้องและสมควรกล่าวตามความรู้สึกของคนทั่วไป มิใช่การแกล้งกล่าวครึ่งๆ กลางๆ บิดเบือน ตัดต่อ หยาบคาย ยั่วยุ คลุมเคลือมุ่งหมายให้เกิดความเข้าใจผิดโกรธเกลียดไม่พอใจหรือดูหมิ่น
- การติชมต้องเป็นเรื่องที่คนทั่วๆไปจะพูดถึงหรือติชม เช่น กิจการบ้านเมือง กิจการของท้องถิ่น กิจการสาธารณะ พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือบุคคลที่เสนอตัวเป็นตัวแทนของชุมชนหรือของประชาชน เช่น นักแสดง พระภิกษุ เป็นต้น
- การเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ที่จะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ก็อาศัย มาตรา 329 (3) นี้เช่นกัน ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิจะกล่าวเกินไปกว่าการแจ้งข่าว หากกล่าวล่วงล้ำขอบเขตในลักษณะที่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอาจไม่ได้รับการยกเว้นความผิด
- นอกจากนี้การที่คู่ความหรือทนายความของคู่ความ ซึ่งแสดงความคิดเห็นหรือข้อความในกระบวนพิจารณาคดีในศาล เพื่อประโยชน์แก่คดีของตน ก็ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 331
การหมิ่นประมาท จะผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ด้วยหรือไม่
- ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
- ดังนั้น การกระทำใดหากเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (เทียบฎีกาที่ 2778/2561)
- ฉะนั้น การหมิ่นประมาททางสื่้อโซเชียลมีเดียต่างๆ จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 แต่ไม่ผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1)
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์