รูปภาพของadmin advanced law
สรุปหลักเกณฑ์ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่
โดย admin advanced law - พฤหัสบดี, 13 ธันวาคม 2018, 04:09PM
 
สรุปหลักเกณฑ์ การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่

(ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526)

1.คดีที่ขอให้มีการรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ได้
1) ต้องเป็นคดีอาญา
2) ต้องเป็นคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว

2.เงื่อนไขหรือเหตุที่ขอให้รื้อฟื้นคดีได้
เมื่อปรากฎว่ามีเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังต่อไปนี้
1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (๑) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ
3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด

3.บุคคลผู้มีสิทธิร้องขอให้รื้อฟื้นคดีใหม่ได้
1) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
2) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ
3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
4) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง หรือ
5) พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม

4.ขั้นตอนการยื่นคำร้อง
1) คำร้องต้องอ้างเหตุหรือเงื่อนไขในการรื้อฟื้นคดีให้ละเอียดและชัดแจ้ง ถ้าประสงค์จะขอค่าทดแทนเพื่อการที่บุคคลใดต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด หรือขอรับสิทธิที่บุคคลนั้นเสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืน ให้ระบุการขอค่าทดแทนหรือขอรับสิทธิคืนไว้ในคำร้องนั้นด้วย
2) ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาคดีนั้น
3) ให้ศาลที่ได้รับคำร้องทำการไต่สวนคำร้องนั้นว่ามีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่หรือไม่ เว้นแต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นผู้ร้อง ศาลจะไต่สวนคำร้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไต่สวนคำร้อง ก็ให้ศาลสั่งรับคำร้องและดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป คำสั่งของศาลในกรณีเช่นนี้ให้เป็นที่สุด
4) เมื่อศาลที่รับคำร้องได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์โดยไม่ชักช้าเพื่อสั่ง
5) เมื่อศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนการไต่สวนและความเห็นแล้ว ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น คำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด (ไม่ว่าจะอนุญาตหรือยกคำร้องก็ตาม)
6) ในระหว่างดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ หากบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดกำลังรับโทษนั้นอยู่ ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องจะสั่งปล่อยบุคคลนั้นชั่วคราวโดยมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้
7) คำร้องเกี่ยวกับผู้ต้องรับโทษอาญาคนหนึ่งในคดีหนึ่งให้ยื่นได้เพียงครั้งเดียว
8) คำร้องให้ยื่นได้ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือมีเหตุให้รื้อฟื้นคดี หรือภายใน 10 นับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด แต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษศาลจะรับคำร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้นไว้พิจารณาก็ได้

5.อำนาจศาลในการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่
1) ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมได้กระทำความผิด ก็ให้พิพากษายกคำร้องนั้นเสีย แต่ถ้าเห็นว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมมิได้กระทำความผิด ให้พิพากษายกคำพิพากษาเดิมและพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด
2) ในกรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมเป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาและทำความเห็นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี พิจารณาเพื่อพิพากษายกคำร้อง หรือยกคำพิพากษาเดิม และพิพากษาว่าบุคคลนั้นมิได้กระทำความผิด
-
ความรู้กฎหมาย โดย อ.เกด ศิวาพร คารวนันท์